ประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ของสวนจิ๋ว

small-garden

Illustration by V-Vis

บ่อยครั้งที่การพูดถึง สวน มักจะมีความย้อนแย้งในตัวเองอยู่หลายมิติ เริ่มตั้งแต่ความเชื่อที่ว่า ‘คนชอบจัดสวน คือคนที่รักธรรมชาติ’ ซึ่งถ้าจะมองกันให้ลึกแล้วก็เป็นความเชื่อที่สวนทางกับความจริง เนื่องด้วยการจัดสวนของคนเราเริ่มมาจากความพยายามที่จะเอาชนะธรรมชาติ หรือความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้เป็นไปดังใจตัวเอง มากกว่าการโหยหาความเป็นธรรมชาติในแบบที่มันเป็นอยู่จริง

ยิ่งถ้าได้สืบสาวประวัติศาสตร์ของการจัดสวนไปถึงครั้งโบราณกาล ก็จะพบว่าแนวคิดของการสร้างสวนเป็นของตัวเองในยุคดั้งเดิมนั้น แม้จะมีแง่มุมของการชื่นชอบต้นไม้ใบหญ้าเป็นพื้นฐาน แต่หลักใหญ่ใจความกลับเป็นเรื่องของการ ‘พิชิตหรือเอาชนะ’ เพื่อแสดงออกถึงพลังอำนาจในการอยู่เหนือธรรมชาติ หรือการจำลองธรรมชาติขึ้นมาใหม่ ในพื้นที่ซึ่งไม่สามารถมีลักษณะตามธรรมชาติแบบนั้นเกิดขึ้นได้เอง

eden

The Garden of Eden with the Fall of Man by Jan Brueghel the Elder and Pieter Paul Rubens

 

สวนที่ท้าทายธรรมชาติอย่างอหังการ์ส่วนมากจะเป็นสวนที่สร้างขึ้นโดยชนชั้นปกครองที่มีอำนาจ หรือมีกำลังพลมากจากการสะสมเชลยที่ได้จากการสู้รบมาเป็นแรงงานในการสร้างสรรค์และดูแลรักษาสวน ดังนั้นสวนอันยิ่งใหญ่วิจิตรตระการตาจึงไม่ได้เป็นแค่สิ่งที่แสดงถึงอำนาจเหนือธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความมั่งคั่ง และแสนยานุภาพทางการทหารอันยิ่งใหญ่ของเจ้าของสวนในฐานะเป็นเครื่องข่มขวัญศัตรูด้วย

หนึ่งในภาพจำลองสวนลอยแห่งบาลิโลนที่ถูกวาดขึ้นจากจินตนาการของศิลปิน ซึ่งไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่า ของจริงมีสภาพเป็นอย่างไร เพราะพังทลายไปแล้ว  Credit: http://batkya.deviantart.com/art/Hanging-Gardens-of-Babylon-203309919

หนึ่งในภาพจำลองสวนลอยแห่งบาลิโลนที่ถูกวาดขึ้นจากจินตนาการของศิลปิน ซึ่งไม่มีใครบอกได้แน่ชัดว่า ของจริงมีสภาพเป็นอย่างไร เพราะพังทลายไปแล้ว Credit: http://batkya.deviantart.com/art/Hanging-Gardens-of-Babylon-203309919

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า คนเราสื่อสารความยิ่งใหญ่ของตนได้ด้วยการมีสวนสวยขนาดมหึมา หรือการสร้างสวนที่อุดมสมบูรณ์อยู่ได้ในทะเลทรายอันแห้งแล้ง อย่างเช่น สวนลอยแห่งบาบิโลน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เพราะเป็นสวนบนสถาปัตยกรรมทรงเรขาคณิตที่ก่อสร้างขึ้นกลางทะเลทรายตั้งแต่ราว 600 กว่าปีก่อนคริสตกาล จนทำให้นักคิดของโลกยุคต่อๆมาต่างฉงนสนเท่ห์ในความล้ำของเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมชลประทานในยุคนั้น ที่สามารถผันน้ำจำนวนมหาศาลขึ้นไปหล่อเลี้ยงสวนประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นมาเป็นภูมิสถาปัตยกรรมสีเขียวกลางความแห้งแล้งได้

ภาพจำลองสวนลอยบาลิโลน จากภาพยนตร์เรื่อง Alexander - Hanging Gardens of Babylon Scene from Alexander movie

ภาพจำลองสวนลอยบาลิโลน จากภาพยนตร์เรื่อง Alexander – Hanging Gardens of Babylon Scene from Alexander movie


สวนลอยบาบิโลน (อังกฤษ: Hanging Gardens of Babylon) จัดเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยูเฟรติสประเทศอิรักในปัจจุบัน สร้างโดยพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 แห่งกรุงบาบิโลเนีย สร้างให้แก่มเหสีของพระองค์ชื่อพระนางเซมีรามีส สร้างขึ้นเมื่อ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช สูงประมาณ 75 ฟุต กินพื้นที่ 400 ตารางฟุต ระเบียงทุกชั้นได้รับการตกแต่งด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนพุ่มชนิดต่าง ๆ มีระบบชลประทานชักน้ำจากแม่น้ำยูเฟรติสไปทำเป็นน้ำตกและนำไปเลี้ยงต้นไม้ตลอดปี สวนนี้ได้พังทลายลงจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อหลังศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช

และด้วยความล้ำจนเหลือเชื่อจนเกินอธิบายนี้ ก็ทำให้เกิดกระแสย้อนแย้งว่า สวนลอยที่ว่านั้น อาจไม่เคยมีอยู่จริง แต่จากหลักฐานด้านวิศวกรรมชลประทานที่ปรากฏในส่วนโครงสร้างใต้ดินของสวนลอยบาบิโลน ก็ยืนยันให้โลกต้องยอมรับว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการจัดการน้ำและการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมสีเขียวสุดมหัศจรรย์ในยุคนั้น…น่าจะเป็นของจริง

 

อย่างไรก็ดี แม้แนวคิดในการมีสวนขนาดใหญ่และสวยงามเพื่อประดับที่อยู่อาศัยและสถานที่สำคัญ ยังคงเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความมั่งคั่งสืบเนื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันสำหรับผู้คนแทบทุกชนชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า การมีสวนขนาดเล็กจิ๋วจนแทบจะต้องเอาแว่นขยายส่อง หรือสวนที่เล็กจนบรรจุอยู่ในขวดแก้วใบน้อยๆได้ จะหมายถึงความยากจนข้นแค้นของผู้เป็นเจ้าของ

นักจัดสวนมือใหม่อาจไม่รู้ว่า ที่มาของแนวคิดในการมีสวนจิ๋ว หรือสวนจำลองในพื้นที่เล็กๆนั้น เป็นประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ถึงขั้นพลิกโลกเลยทีเดียว หากย้อนไปถึงจุดกำเนิดแท้จริงของมันแล้ว ไม่ได้เป็นเพราะเจ้าของสวนมีพื้นที่จัดสวนน้อย ก็เลยหันมาจัดสวนในพื้นที่เล็กแทนสวนขนาดใหญ่ ตรงกันข้าม…การจัดสวนจิ๋วในขวดแก้ว ในถาด หรือในตู้กระจก ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงฐานะและรสนิยมอันหรูหราวิไลเลิศของคนในยุคก่อนเช่นกัน ในแง่ที่มันเป็นเครื่องสื่อสารถึงความละเอียดบรรจง การใช้เวลาอย่างฟุ่มเฟือยไปกับงานอดิเรกขนาดเล็กๆ กับความสามารถที่จะเอาชนะธรรมชาติด้วยความปราดเปรื่องทางวิทยาศาสตร์อันผนวกเข้าอย่างลงตัวกับความงามที่มีคุณค่าทางศิลปะ

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ชาวกรีกรู้จักวิธีการจัดสวนในภาชนะปิดที่มีผิวสัมผัสโปร่งใสมานานตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว  แต่จุดกำเนิดของสวนขนาดจิ๋วหรือสวนในขวด รวมถึงสวนในกล่องกระจกใสที่ได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวางทุกวันนี้ มาจากความบังเอิญจากการศึกษาทดลองของนักวิทยาศาสตร์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผู้มีชื่อว่า Nathaniel Bagshaw Ward ในช่วงศตวรรษที่ 19

220px-Nathaniel_Bagshaw_Ward

Nathaniel Bagshaw Ward

Nathaniel Bagshaw Ward คนนี้นอกจากจะมีงานหลักคือเป็นแพทย์แล้ว แกยังสนใจด้านพฤกษศาสตร์ ชอบปลูกเฟิร์น และมีความชื่นชอบการเลี้ยงผีเสื้อกลางคืน โดยมีงานอดิเรกนอกจากเลี้ยงเฟิร์น (ซึ่งไม่ค่อยได้ผลดังใจนักเพราะมลพิษในลอนดอนยุคนั้น ว่ากันว่าในอากาศเต็มไปฝุ่นถ่านหินและกำมะถัน ทำให้เฟิร์นของแกไม่ค่อยงาม) ก็คือการนำหนอนผีเสื้อกลางคืนมาเลี้ยงไว้ในโหลแก้ว เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่หนอนเปลี่ยนเป็นดักแด้จนมีปีกบินออกไปจากขวด ในระหว่างที่เปิดปิดขวดโหลให้ผีเสื้อบินออกไป บังเอิญมีสปอร์ของเฟิร์นตกลงไปในขวด เกิดงอกออกมาเป็นต้นเฟิร์นสวยงามโดยไม่ต้องรดน้ำ (แถมยังดูสมบูรณ์แข็งแรงกว่าเฟิร์นที่แกพยายามเลี้ยงอย่างดีเสียอีก) ทำให้ Nathaniel Bagshaw Ward เกิดไอเดียนำมาทำเป็นของแต่งบ้านด้วยการเลี้ยงเฟิร์นในขวดแก้วหรือเรือนกระจก

wardian case

wardian case

 

เพียงไม่นานไอเดียที่ว่านี้ก็แพร่ขยายทั่วไปทั้งยุโรปตะวันตกและลามมาถึงทวีปอเมริกา เพราะ Nathaniel Bagshaw Ward  นั้นไม่ได้ชอบแค่เลี้ยงเฟิร์น แต่ยังชอบสรรหาพันธุ์ไม้แปลกๆ มาปลูก เมื่อพบว่าต้นไม้สามารถโตในขวดได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมการขนส่งพันธุ์ไม้ต่างถิ่นข้ามทวีป ด้วยการบรรจุต้นอ่อนไว้ในขวดแก้วเพื่อขนส่งทางเรือ

เนื่องจากชนชั้นสูงสมัยก่อนโดยเฉพาะเชื้อพระวงศ์ชาวอังกฤษที่ส่งกำลังพลออกไปล่าอาณานิคมที่นั่นที่นี่ เมื่อนักล่าอาณานิคมเจอพันธุ์ไม้อะไรสวยๆแปลกๆ ก็อยากจะเอาไปเป็นของฝากประจบเอาใจบรรดาเจ้านาย เพื่อปลูกเลี้ยงไว้ในบ้านเมืองตัวเอง รวมไปถึงพืชพันธุ์ที่เป็นอาหาร เครื่องเทศ และสมุนไพรรสเลิศ การขนย้ายพันธุ์พืชในขวดแก้วช่วยให้ต้นอ่อนหรือกิ่งพันธุ์พืชสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน กลายเป็นคำตอบของการจัดสวนสวยแบบข้ามทวีป ชนิดที่ว่าใครรวยหรือมีอำนาจพอที่จะซื้อไม้แปลกๆจากที่ไหนในโลก ก็สามารถมีสวนที่พิสดารเหนือกว่าใครเป็นเครื่องแสดงถึงบุญญาบารมีของตนได้ดังใจปรารถนา

การค้นพบของ Ward จึงเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ นามสกุลของเขากลายเป็นที่มาของคำว่า ‘Wardian case’ อันหมายถึงการปลูกต้นไม้ในเรือนกระจกหรือขวดแก้ว ที่เราเรียกว่า ‘Terrarium’ ในปัจจุบัน


Terrarium หมายถึง การทำสวนในขวดแก้ว, สวนตู้กระจก หรือสวนที่มีการย่อระบบนิเวศน์มาอยู่ในที่แคบๆ ซึ่งบรรจุอยู่ในภาชนะที่มีกำแพงล้อมรอบ แต่เกิดสมดุลทำให้พืชมีชีวิตอยู่ได้ด้วยระบบน้ำที่เกิดจากความชื้นจากชั้นดินและพืชระเหยออกมา เมื่ออุณหภูมิภายในขวดสูงขึ้นเพราะแสงและความร้อนที่ทะลุผ่านวัสดุโปร่งใส จะเกิดไอน้ำควบแน่น ก่อนจะหมุนกลับไปที่พืชและชั้นดินด้านล่าง เกิดวัฏจักรแบบนี้หมุนเวียนภายในขวดแก้ว โดยการทำ Terrarium นี้มีทั้งระบบปิด ที่ภาชนะสำหรับปลูกจะปิดสนิท หมุนเวียนระบบน้ำ (Water Cycle) ภายในโถแก้ว ทำให้พืชสังเคราะห์แสงได้ตามวัฏจักร ไม่ต้องดูแลมากมาย เพียงแค่เปิดฝาเปลี่ยนอากาศอาทิตย์ละครั้ง พรรณไม้ที่เหมาะในการปลูกคือไม้ทรอปิคอล ได้แก่ มอสส์ เฟิน กล้วยไม้ และไม้รากอากาศ อย่างทิลล์แอนด์เซีย เคราฤๅษี  และระบบเปิด คือจะเปิดช่องให้อากาศเข้าไปในขวดแก้ว โดยมีขั้นตอนการสร้างระบบนิเวศไม่ต่างจากระบบปิด ต่างที่พรรณไม้ที่ปลูกจะเป็นต้นไม้ทะเลทราย หรือไม้อวบน้ำ อย่างแคตตัส ซัคคูเลนท์ ซึ่งไม่ชอบความชื้น และสามารถทนอากาศแห้งได้ดี ต่างจากพรรณไม้ในระบบปิดที่จำเป็นต้องมีความชื้นที่พอเหมาะ


11264972_10206947342904924_5133064630356646426_n

ยิ่งไปกว่านั้น ความสำเร็จของสวนจิ๋ว ในการขนส่งพันธุ์ไม้ข้ามทวีปนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ไม้ประดับ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการขนส่งต้นอ่อนชาจากเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ไปขยายพันธุ์เพาะปลูกในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ในช่วงที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ รวมไปถึงการขนเมล็ดพันธุ์ยางพาราจากบราซิล ไปขยายพันธุ์ในศรีลังกาและในดินแดนคาบสมุทรมลายู การค้นพบนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางภูมิศาสตร์ของพฤกษศาสตร์ทั่วโลก และเป็นที่มาของจุดกำเนิดแห่งใหม่ของแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของโลกหลายรายการอีกด้วย

การถือกำเนิดของสวนจิ๋ว จึงมีความสำคัญในประวัติศาสตร์อย่างยิ่งใหญ่ เกินกว่าที่ใครจะคาดคิด!

สำหรับความนิยมการจัดสวนจิ๋วเป็นไม้ประดับ ในขวดหรือในเรือนกระจก ‘Wardian case’ เริ่มแรกก็คงต้องจำกัดอยู่ในสังคมชั้นสูงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะขึ้นชื่อว่าของแปลก หายาก เลี้ยงยากแล้ว ย่อมเกินกำลังชาวบ้านหาเช้ากินค่ำจะไปดูแลสวนแบบนั้นได้ นอกจากจะสรรหาไม้ประหลาดราคาแพงจากแดนไกลมาเลี้ยงแข่งกันเพื่ออวดศักดา มีการออกแบบจัดสวนด้วยจินตนาการสุดบรรเจิดแล้ว การแข่งกันหาซื้อและสั่งทำขวดแก้วหรือเรือนกระจกอันสวยงามสุดพรรณาจากฝีมือศิลปินนักเจียรนัยแก้วมือหนึ่ง ก็ยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนจัดสวนจิ๋วพยายามแข่งขันกันสุดฤทธิ์ ซึ่งไม่ได้แข่งกันมาแค่ในยุควิคตอเรียนเท่านั้น ผ่านมาหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบันคนรักสวนจิ๋วก็ยังสนุกกับการแข่งกันด้วยเรื่องแบบเดียวกัน แสดงว่าเสน่ห์ของการจัดสวนในพื้นที่เล็กๆนั้นมั่นคงยาวนาน และคงจะต้องมีอะไรดีๆซ่อนอยู่ไม่น้อย จึงได้ฝังตรึงอยู่ในความชอบของคนรักสวนอย่างแนบแน่นมาจนทุกวันนี้

OpenTerrarium By Sonny Abesamis - Flickr: Terrarium, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=33278679

สวนขวดแก้วแบบเปิด Open Terrarium By Sonny Abesamis – Flickr: Terrarium, CC BY 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=33278679

สวนจิ๋วในขวดแก้วเจียรนัยหรือในเรือนกระจกแสนสวยของโลกตะวันตกเกิดขึ้นจากชนชั้นสูงที่ร่ำรวย แต่การก่อเกิดของสวนจิ๋วในวัฒนธรรมของโลกตะวันออกมีจุดเริ่มต้นมาจากคนยากไร้ซึ่งขาดแคลนพื้นที่ทำสวน คนรวยในประเทศจีนนิยมทำสวนสวยใหญ่โตมีกำแพงล้อมไว้ดูกันเองในบ้าน ส่วนชาวบ้านยากจนที่ไม่มีปัญญาจะทำสวนหรูๆแบบนั้น ก็ริเริ่มทำสวนเล็กๆไว้ชื่นชมในกระถาง เป็นรูปแบบสวนจิ๋วที่ทำกันมานานตั้งแต่เมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน

IMG_1925

ในช่วงราชวงศ์จิ้น ระหว่างปี พ.ศ. 808-963 มีข้อมูลบันทึกว่า เถาหยวนหมิง จินตกวีผู้ทิ้งราชสำนักคืนสู่ชนบท เป็นผู้ริเริ่มนำวัฒนธรรมการจัดสวนจากชนชั้นสูงในราชสำนักมาทำจำลองแบบย่อส่วนในกระถาง เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตในบ้านขนาดย่อมแบบชาวบ้าน มีการใช้ไม้ย่อส่วนมาจัดเป็นทิวทัศน์สวยงาม

เมื่อชาวบ้านทั่วไปเห็นก็ทำตามโดยใช้ถ้วย จาน ถาด หม้อไห กระถาง หรือภาชนะต่างๆตามแต่จะหาได้ แล้วหาต้นไม้ขนาดเล็กๆมาปลูก คนที่มีหัวศิลป์หรือมีอารมณ์สุนทรีย์หน่อยก็ค่อยๆจัดแต่งด้วยจินตนาการ เพื่อจำลองสวนขนาดใหญ่ของผู้มีอำนาจวาสนา ให้เกิดเป็นสวนจิ๋วที่มีผังละม้ายคล้ายคลึงกับทิวทัศน์สวนจริงๆ ในภาชนะใบน้อยๆไว้ชื่มชมตามอัตภาพ ก็มีการนำพันธุ์ไม้ต่างๆ มาเลี้ยงแบบย่อส่วนให้มีรูปทรงน่าสนใจ เรียกว่า ‘เผิน ชิง’ (Penjing) ทำให้ผู้ที่พบเห็นชื่นชอบและหันมาใช้เวลาว่างในช่วงที่บ้านเมืองสงบสุข จัดแต่งสวนจิ๋วนี้เป็นงานอดิเรกกันอย่างกว้างขวาง จากที่เคยเป็นสวนจำลองของชาวบ้าน ก็แพร่หลายไปเป็นหนึ่งในงานอดิเรกของชนชั้นสูง มีทั้งสวนจิ๋วที่ใช้ไม้หลายชนิดมาจัดเป็นทิวทัศน์ย่อส่วน เรียกว่า ‘หลิงหนานพ่าย’ และมีทั้งการจัดโดยใช้ไม้หลักเพียงต้นเดียวที่ดัดและตัดแต่งรูปทรงจนสวยงามจนได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปะชั้นสูงที่มีคุณค่าแขนงหนึ่ง เรียกว่า ‘เผิน-ไจ’ อันมีความหมายว่า ‘ต้นไม้โบราณย่อส่วนโดยปราศจากทิวทัศน์’ เป็นที่มาของคำว่า ‘บอนไซ’ ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า ‘พืชในกระถาง’

Chinese Penjing landscape with figurine, by Matyie Che Makhtar. Credit: http://www.bonsaiempire.com/inspiration/top-10/chinese-penjing

Chinese Penjing landscape with figurine, by Matyie Che Makhtar. Credit: http://www.bonsaiempire.com/inspiration/top-10/chinese-penjing

ความคลั่งใคล้ในศิลปะการทำบอนไซในจีนนี้มีมาก จนถึงขั้นเขียนตำราอธิบายหลักวิชากันเป็นเล่มๆ แต่ชื่อเสียงของบอนไซที่ดังกระจายไปทั่วโลกกลับมาจากญี่ปุ่น เพราะในระหว่างปี พ.ศ. 1823-1911 มีข้าราชการชาวจีนผู้ชื่นชอบบอนไซชื่อ จู-ซุ่น-สุ่ย เข้าไปลี้ภัยในญี่ปุ่น ได้นำตำราบอนไซติดตัวไปด้วย ทำให้ความรู้เรื่องบอนไซกระจายเข้าสู่ญี่ปุ่น

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวตะวันตกโดยเฉพาะชาวเยอรมันและฝรั่งเศสที่เข้ามาในญี่ปุ่นช่วงนั้นก็ได้นำวัฒนธรรมในญี่ปุ่นหลายอย่างติดตัวกลับไปในบ้านเมืองตัวเองรวมถึงความรู้เรื่องการทำบอนไซ มีการตั้งสมาคมบอนไซขึ้นในญี่ปุ่น (The Nippon Bonsai Association)โดยมีบุคคลระดับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นนายกสมาคม ตามมาด้วยการตั้งสหพันธ์บอนไซโลก (World Bonsai Federation)

แสดงให้เห็นว่า แม้บอนไซจะเป็นการทำสวนขนาดเล็กๆ แต่ก็มีความสำคัญยิ่งใหญ่ระดับโลกเลยทีเดียว !

Creating_Bonkei_Tray_Landscapes

Creating Bonkei Tray Landscape (Tokugawa Era; Artist: Toyohara (Yoshu) Chikanobu Japan, 1838-1912)

ความสำคัญของ ‘บอนไซ’ มีมากถึงระดับที่มีการยกย่องให้บอนไซเป็น ‘ศิลปะแห่งสันติที่จะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่สันติภาพของโลก’ ภายใต้ความเชื่อว่าบอนไซได้มีส่วนกล่อมเกลาจิตนำไปสู่ใจใฝ่สงบ ซึ่งกระแสความคิดเหล่านี้จุดประกายขึ้นในญี่ปุ่น หลังจากที่ประเทศบอบช้ำจากศึกสงครามอย่างหนัก จนหลายคนนึกว่า บอนไซ มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่นไปเสียด้วยซ้ำ

สำหรับความนิยมสวนจิ๋วในไทย เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวญี่ปุ่นเป็นคนนำวัฒนธรรมการเลี้ยงบอนไซเข้ามาเผยแพร่ มีหลักฐานปรากฏอยู่ในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน แต่รสนิยมการทำสวนแบบท้าทายธรรมชาตินั้นมีมานานก่อนหน้านั้นแล้วในบ้านเราตั้งแต่สมัยสุโขทัยโน่น คือเป็นเรื่องของการเลี้ยงไม้ดัดและไม้แคระ แต่ไม่ได้นำมาย่อให้มีขนาดเล็กจิ๋วในกระถางหรือในถาดแบบบอนไซ ไม้ที่นิยมนำมาเป็นบอนไซมีหลากหลาย ทั้งไม้ที่เขียวตลอดปี ไม้ผลัดใบ และไม้เขตร้อน

bonsai-2

จากประวัติโดยย่อของสวนจิ๋วที่เล่ามาให้อ่านกันพอสนุกๆ ทั้งสวนในขวด และสวนบอนไซในถาดนี้ คงทำให้ผู้ที่สนใจหรืออยากจะเริ่มต้น ได้สัมผัสแง่มุมใหม่ๆในการพิจารณาเรื่องราวของสวน ซึ่งสื่อสารถึงความพยายามในการเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ได้ประทับใจในเรื่องราวการก่อกำเนิด ได้รับรู้ถึงความน่าทึ่งในอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของสวนขนาดจิ๋วๆที่มีต่อผู้คนทั่วโลก และอาจเป็นแรงบันดาลใจดีๆให้ลองมาสนุกกับสร้างสรรค์สวนของตัวเองดูบ้าง คุณอาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่หลงรักสวนจิ๋ว และมีความสุขมากมายกับโลกใบใหม่ที่ได้ค้นพบในสวนของคุณ

 


 

อ้างอิง

www.bonsaiempire.com

www.mybonsaicreations.com/bonsai-history/

 

Buttercup Garden

Buttercup Garden เป็นนามปากกาของนักออกแบบจากรั้วจามจุรี ที่หลงรักช่วงเวลาดีๆในสวน และมีความสุขกับการถ่ายทอดเรื่องราวน่ารู้และไอเดียเกี่ยวกับสวน เพื่่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่ปรารถนาความรื่นรมย์ในโลกสีเขียว และการจัดสวนสวยในบ้านด้วยตัวเอง

You may also like...