ห้องทำงาน (ตอนที่ 1)

หนุ่มสาวออฟฟิศทั้งหลายเคยรู้บ้างไหมว่า วิถีชีวิตการทำงานออฟฟิศเก๋ไก๋ ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศบนตึกสูงย่านดาวน์ทาวน์ หรือโฮมออฟฟิศที่คุณทำงานอยู่นั้น มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร และออฟฟิศที่ดีคือออฟฟิศแบบไหน‘ออฟฟิศ’ ในประเทศไทยมีขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า ออฟฟิศหลวง ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติราชการของข้าราชการในสมัยก่อน เนื่องจากเหล่าข้าราชการในยุคนั้นคือพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย จึงทำงานกันในรั้วในวัง ส่วนออฟฟิศสำหรับหน่วยราชการตามหัวเมืองหรือส่วนภูมิภาค ซึ่งเปรียบได้กับศาลากลางในปัจจุบัน เรียกว่า เค้าท์ สนามหลวง คำว่า เค้าท์ นั้นมาจากคำว่า COURT ในภาษาอังกฤษ

ในสมัยโบราณจะไม่มีออฟฟิศสำหรับสามัญชนคนไทย ไม่มีประชาชนไทยคนไหนทำงานหรือมีกิจการธุรกิจส่วนตัว เนื่องจากผู้คนอยู่ภายใต้ระบบไพร่ซึ่งมีมาตั้งแต่อยุธยา แรงงานของปัจเจกชนในสมัยก่อนนั้นถือว่าเป็นแรงงานของแผ่นดิน หรือพูดง่ายๆก็คือเป็นของกษัตริย์ ผู้คนไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของชีวิตหรือแรงงานตัวเอง ถึงขนาดต้องมีการ ‘สักเลก’ ที่ข้อมือเอาไว้เพื่อเป็นการตีตราถึงความเป็นไพร่มีสังกัด แบ่งออกเป็น ไพร่หลวง ไพร่สม และไพร่ส่วย

‘ไพร่หลวง’ หมายถึง คนที่ทำงานให้หลวงหรือให้แผ่นดิน เช่น เป็นทหาร ข้าราชการ ‘ไพร่สม’ หมายถึง ไพร่ที่รับใช้เจ้านายเป็นรายบุคคล ส่วน ‘ไพร่ส่วย’ หมายถึงผู้คนที่อยู่ห่างไกล ไม่สามารถเอาแรงงานเข้ามารับใช้หลวงได้ จึงต้องส่งของมาให้แทนเรียกว่า ส่วย คำนี้ก็คงคุ้นๆกันดีไม่ต้องอธิบายต่อ : )

ออฟฟิศของเอกชนในประเทศไทยเริ่มมีเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 บ้านเมืองยุคนั้นมีคนจีนหอบเสื่อผืนหมอนใบเข้ามามาก แต่ทว่ารัชกาลที่ 6 ไม่โปรดคนจีน ทรงเปรียบเปรยว่า ‘จีน คือ ยิวแห่งบูรพาทิศ’ มองว่าจีนเป็นชนชาติที่จะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์แสวงหาความร่ำรวยในสยาม พระองค์จึงโปรดให้ฝรั่งตะวันตกเข้ามาเปิดออฟฟิศแทนคนจีน โดยไม่ยอมให้คนจีนได้มีโอกาสตั้งตนประกอบธุรกิจเป็นของตัวเอง ให้ทำแต่งานจับกัง หรืองานรับจ้าง คนจีนในยุคก่อนจึงไม่มีทางเงยหน้าอ้าปากเทียบเท่าคนไทยหรือฝรั่ง

สำหรับพวกฝรั่งที่เข้ามาเปิดออฟฟิศในเมืองไทยยุคแรกๆ จะใช้ตึกเช่าย่านท่าพระจันทร์เป็นสถานที่ทำงาน ซึ่งมีเกร็ดเล่าว่าเป็นย่านที่ ‘สุนทรภู่’ ก็เคยอาศัยใช้ชีวิตอยู่ระยะหนึ่ง (แต่ท่านคงไม่ได้นั่งแต่งบทกวีด้วยการพิมพ์ดีดตะล๊อกต๊อกแต๊กเหมือนพวกฝรั่ง เพราะช่วงที่สุนทรภู่พักอยู่แถวนั้นเป็นคนละยุคสมัยกัน) ซึ่งพวกฝรั่งที่เป็นเจ้าของออฟฟิศก็จะเป็นทั้งเจ้าของและเป็นพนักงานเอง สมัยก่อนจะไม่มีการจ้างคนไทยมาเป็นพนักงานออฟฟิศ เพราะติดขัดที่ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ใครที่คิดจะไปเป็นลูกจ้างฝรั่งก็ต้องถูกแปลงสัญชาติกลายเป็นฝรั่งเสียก่อน เวลาทำผิดต้องไปขึ้นศาลฝรั่ง คนงานหรือลูกจ้างส่วนใหญ่ในกิจการงานต่างๆจึงมีแต่คนจีน ประกอบกับคนไทยนั้นอยู่ภายใต้ระบบไพร่หรือเป็นข้าแผ่นดินดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จึงไม่มีสิทธิ์และไม่มีเวลาหรือโอกาสจะลุกขึ้นมาเปิดกิจการใดๆเป็นของตัวเอง รวมถึงไม่สามารถเอาแรงงานหรือความรู้ความสามารถของตัวเองไปขายหรือรับจ้างทำงานให้ใครนอกจากทำงานให้หลวง เรื่องหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองอย่าไปหวัง ในปีหนึ่งๆ ผู้ชายชาวไทยทั้งหลายก็จะต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานให้หลวงเป็นระยะๆโดยไม่มีค่าจ้าง ถือเป็นหน้าที่พลเมืองที่จะต้องรับใช้ประเทศชาติ ก่อกำเนิดวัฒนธรรมที่มีผู้หญิงเป็นนายของบ้าน เพราะสามี พ่อ หรือลูกชาย ต้องออกจากบ้านไปทำงานให้หลวงกันหมด

วิถีเหล่านี้ดำเนินต่อเนื่องมาถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 การปกครองในระบอบประชาธิปไตยปลดปล่อยชีวิตผู้คนในชาติให้หลุดพ้นจากระบบไพร่ ประชาชนบางส่วนที่ได้รับสิทธิ์ในชีวิตของตนกลับคืนมาอย่างกะทันหันก็ยังงงงวยกับสิทธิเสรีภาพที่ได้รับ หันรีหันขวางไม่รู้จะจัดการอย่างไรต่อไปกับชีวิตของตน บางคนก็ยังคงเลือกทำงานรับใช้เจ้านายคนเดิมต่อไปด้วยความจงรักภักดี ในขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งก็หันมาประกอบอาชีพของตนเอง คนที่อยู่บ้านนอกก็ทำไร่ทำนาทำสวนไปตามเรื่องตามราว แต่คนที่สามารถประกอบธุรกิจการงานที่ต้องใช้ทุนและวิชาความรู้ส่วนมากก็เป็นบุคคลระดับสูงหรือเหล่าข้าราชการที่เป็นอิสระจากระบบเดิม เมื่อว่างจากงานรับใช้หลวงไม่มีอะไรจะทำก็นำเอาความรู้ความสามารถที่เคยทำงานอยู่เดิมมาเปิดออฟฟิศทำธุรกิจส่วนตัว เช่น งานโยธา บริษัทหรือออฟฟิศเอกชนยุคแรกๆของคนไทยคือบริษัทรับจ้างขุดคลอง

ออฟฟิศเอกชนของคนไทยในยุคเริ่มต้นจะดำเนินตามอย่างออฟฟิศของฝรั่ง คือ แยกส่วนที่ทำงานกับบ้านออกจากกัน เช้าขึ้นก็แต่งตัวโก้ๆไปนั่งทำงานในสำนักงาน ตกเย็นกลับบ้าน ส่วนคนจีนที่หลุดพ้นจากการถูกกดขี่ก็เริ่มลุกขึ้นมาทำธุรกิจการค้าโดยร่วมมือกันในหมู่ญาติพี่น้องเรียกว่ากงสี ทำงานกันที่บ้านโดยบ้านของคนจีนที่เป็นเครือญาติกันก็จะอยู่เป็นตึกเป็นแถวติดกัน กินอยู่ด้วยกันและช่วยกันทำมาหากินในธุรกิจเดียวกัน ที่เห็นมากคือใช้ตึกสองชั้นเป็นที่ทำงานด้านล่างส่วนชั้นบนหรือเล่าเต๊งใช้เป็นที่พักอาศัย ตื่นเช้ามาก็ลงมาทำงานได้เลยไม่ต้องเสียค่ารถไม่ต้องแต่งตัวโก้ เป็นต้นแบบของโฮมออฟฟิศ การประกอบธุรกิจของคนจีนในยุคต้นๆเป็นการค้าขาย และธุรกิจส่งออก แต่คนไทยในสมัยก่อนมองคนจีนด้วยสายตาดูถูกดูแคลน ออฟฟิศแบบจีนจึงไม่มีคนไทยนำมาเป็นแบบอย่างทำตาม คนไทยที่มีการศึกษาในยุคเริ่มต้นประชาธิปไตยจะปลื้มกับการได้เป็นลูกจ้างฝรั่ง ใครได้แต่งตัวด้วยชุดสากลไปนั่งทำโก้เป็นเสมียนพิมพ์ดีดอยู่ในออฟฟิศฝรั่งก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ เป็นเทรนด์อาชีพที่ดูดีในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่รองลงมาจากการรับราชการ และยังคงเป็นแนวคิดที่ฝังแน่นอยู่กับค่านิยมของคนไทยมาจนปัจจุบัน

และคงเป็นเพราะคนไทยส่วนมากยังเคยชินกับการอยู่ใต้ระบบไพร่ การลุกขึ้นมาเปิดออฟฟิศทำธุรกิจส่วนตัวของคนไทยจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จแพร่หลายมากนัก ออฟฟิศที่ประสบความสำเร็จใหญ่โตจะเป็นของต่างชาติ และสำหรับชนชาติจีนซึ่งมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดสูงอยู่ในสายเลือดนั้นก็เริ่มลืมตาอ้าปากได้ เปลี่ยนสภาพจากจับกังมาเป็นพ่อค้าแม่ขาย แต่ยังไม่ทันจะเฟื่องฟู คนจีนก็ตกระกำลำบากอีกครั้งในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา รัฐบาลไทยในสมัยนั้นนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปิดทางให้ญี่ปุ่นเข้ามามีอิทธิพลมากในประเทศไทย แต่บังเอิญญี่ปุ่นไม่ถูกกับจีน ธุรกิจการค้าของคนจีนจึงประสบความยากลำบากอีกครั้ง จวบจนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายในช่วงต้นรัชกาลปัจจุบัน คนจีนจึงตั้งตัวได้เป็นปึกแผ่น มีตระกูลเจ้าสัวปรากฏขึ้นบัญชีรายชื่อคนร่ำคนรวยและคนชั้นสูงมากมายในสังคมยุคใหม่ คนจีนที่กินกงสี เปิดธุรกิจในหมู่เครือญาติขยายกิจการใหญ่โต เริ่มหันมาทำออฟฟิศแบบฝรั่ง และจ้างคนไทยมาเป็นลูกจ้าง ซึ่งเมื่อเรื่องราวของ ‘ออฟฟิศ’ดำเนินมาถึงตอนนี้ ก็คงไม่ต้องเล่าประวัติศาสตร์ต่อไป เพราะวิถีการเป็นลูกจ้างไปทำงานในออฟฟิศนั้น ได้กลายมาเป็นหนึ่งในวิถีหลักของคนไทยในปัจจุบัน

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

……………..
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...