ขั้นตอนการจ้างสถาปนิกมาออกแบบบ้าน

เป็นเรื่องธรรมดาและเข้าใจได้ไม่ยากที่คนอยากมีบ้านทุกคนย่อมจะต้องการออกแบบบ้านด้วยตัวเอง เพราะในโลกนี้คงไม่ใครเข้าใจตัวเราอยากตอบสนองความต้องการของเราได้ดีเท่ากับตัวเราเองการมอบหมายให้ใครสักคนมาออกแบบบ้าน จึงต้องเป็นคนที่พร้อมจะรับทราบความต้องการของเรา สื่อสารความคิดกับเจ้าของบ้านได้ดี นอกเหนือจากออกแบบเก่ง มีความสามารถมีประสบการณ์ ก็น่าจะต้องเป็นคนที่ถูกอัธยาศัยกันพอสมควร สถาปนิกบางคนมีพรสวรรค์ในการตามใจเจ้าของบ้าน แถมยังมีหัวใจบริการ สามารถอ่านใจ อ่านความต้องการแล้วแปรออกมาให้เป็นรูปเป็นร่างบนกระดาษได้เหมือนที่เจ้าของบ้านฝันไว้ หรือถ้าความคิดเห็นต่างกันบ้างก็มีการถกเถียงหารือกันด้วยเหตุผลจนได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยมุ่งประโยชน์สูงสุดให้กับเจ้าของบ้านเป็นสำคัญไม่ใช่ทุ่มเถียงกันเพราะอัตตา สถาปนิกบางคนเป็นศิลปิน บางคนถึงขนาดทำตัวเป็นพระเจ้า ขีดเขียนอะไรออกมาดีไม่ดีไม่ทราบ ถ้าเจ้าของบ้านไม่ชอบใจ บอกให้แก้โน่นแก้นี่มากๆเข้า ก็จะโกรธงอนตุ๊บป่อง หอบพิมพ์เขียวสะบัดก้นหนีกลับไปเลยไม่ยอมทำงานต่อก็มี

เนื่องจากค่าจ้างออกแบบของสถาปนิกจะขึ้นอยู่ขนาดของงานออกแบบหรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของราคาค่าก่อสร้าง จึงเป็นความเชื่อกันในหมู่คนทั่วไปว่า การจ้างสถาปนิกมาออกแบบบ้านเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น สถาปนิกคงไม่อยากมารับงานเล็กๆ เพราะได้เงินน้อย และถ้าเป็นบ้านหลังเล็ก เจ้าของบ้านคงออกแบบเองได้ไม่ยาก บางทีไม่ต้องมีแบบแปลนรูปด้านรูปตัดหรือทัศนียภาพบนกระดาษให้วุ่นวาย เจ้าของบ้านแค่ขีดเอาเองสองสามที กับไปยืนชี้ๆเอาหน้างานบอกให้ช่างทำตามคำสั่ง ประเดี๋ยวเดียวก็ได้ออกมาเป็นบ้านแล้ว แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่างานเล็กหรือใหญ่ก็สามารถจ้างสถาปนิกมาช่วยได้ทั้งนั้น ถ้าเจ้าของงานเห็นว่าสถาปนิกมีความจำเป็นกับงาน และมีความเข้าใจในกระบวนการทำงานและขอบเขตความรับผิดชอบของสถาปนิก ก็จะได้ประโยชน์จากความรู้ความสามารถในด้านสถาปัตย์มาช่วยทำให้งานออกมาดีขึ้น

การว่าจ้างสถาปนิก มีความสับสนอยู่มากว่าสถาปนิกคือพนักงานเขียนแบบ บ้างก็เข้าใจว่าสถาปนิกคือคนรับจ้างตกแต่งบ้าน ในงานออกแบบโครงการใหญ่ๆจะไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจเหล่านี้ เพราะขั้นตอนการออกแบบเป็นหนึ่งในขั้นตอนหลักที่จำเป็นที่สุดของการเริ่มต้นโครงการ แต่ในการสร้างบ้าน หลายคนเข้าใจว่าวิศวกรเป็นคนเขียนแบบโครงสร้างบ้านให้ก่อน ส่วนสถาปนิกมาเขียนแบบภายในให้ทีหลัง หรือบางคนก็เข้าใจว่าสถาปนิกเป็นคนเขียนรูปเพอร์สเปคทีฟ หรือเป็นดราฟท์แมน โดยเจ้าของบ้านเป็นคนคิดแบบออกมาก่อนแล้วให้สถาปนิกเอาไปวาดบนกระดาษไข ถ่ายพิมพ์เขียว บางคนเขียนแบบบ้านเองแค่จ้างสถาปนิกมาเซ็นต์แบบก็มีเหมือนกัน ฯลฯ

ในการออกแบบ ก่อสร้างบ้านหนึ่งหลัง งานของสถาปนิกมักจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่เจ้าของบ้านมีพื้นที่ดินสำหรับสร้างบ้านแล้ว และมีการกำหนดงบประมาณในการก่อสร้างบ้านคร่าวๆเอาไว้ในใจ ว่าจะลงเม็ดเงินไปกับบ้านในฝันของตัวเองสักกี่มากน้อย จากนั้นก็มองหาสถาปนิกคู่ใจมาช่วยวาดฝัน ในทีมงานของบริษัทสถาปนิกใหญ่ๆจะประกอบด้วยสถาปนิกผู้ออกแบบ พนักงานเขียนแบบ วิศวกรโยธา และวิศวกรงานระบบ แต่ถ้าเป็นบริษัทขนาดเล็กก็อาจจะมีแต่สถาปนิกกับคนเขียนแบบ และจ้างวิศวกรข้างนอกมารับงานโครงสร้างกับงานระบบให้เมื่อแบบสถาปัตย์เสร็จแล้ว เมื่อเจ้าของบ้านติดต่อสถาปนิกมารับทราบความต้องการ ก็จะต้องมีการเจรจาเรื่องรูปแบบการว่าจ้างและตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนดำเนินงาน โดยการคิดค่าแบบนั้นมีทั้งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าก่อสร้าง (คำนวณเป็นตามรางเมตร) และคิดแบบเหมาจ่าย การคิดราคาค่าแบบเป็นเปอร์เซ็นต์นั้น สมาคมสถาปนิกสยามฯ มีเกณฑ์เอาไว้ว่า ถ้าบ้านราคาไม่เกิน 10 ล้าน ค่าแบบ 7.5 เปอร์เซ็นต์ บ้านราคา 10-30 ล้าน ค่าแบบ 6 เปอร์เซ็นต์ บ้าน 30-50 ล้าน ค่าแบบ 5.25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในทางปฏิบัติก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองด้วย ไม่ได้เป็นข้อบังคับตายตัว แต่การคิดค่าแบบเป็นเปอร์เซ็นต์โดยมากจะเป็นงานที่บริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดำเนินงานนับตั้งแต่ออกแบบก่อสร้าง คุมงาน เรื่อยไปจนถึงบ้านสร้างเสร็จ ส่วนการคิดค่าแบบในลักษณะเหมาจ่าย โดยมากจะแบ่งขั้นตอนการดำเนินงานออกเป็น2 ขั้นชัดเจน คือ ขั้นออกแบบ กับ ขั้นก่อสร้าง โดยสถาปนิกอาจจะรับออกแบบให้แล้วเสร็จจนถึงขั้นที่ขอใบอนุญาตก่อสร้างได้เรียบร้อย ไม่ว่าเจ้าของบ้านจะตกลงใจสร้างหรือไม่สร้างก็ไม่เป็นไร เพราะคิดราคาตัดตอนกันเฉพาะส่วนออกแบบ หากเจ้าของบ้านอยากให้ช่วยคุมงานและดูแลต่อไปจนบ้านเสร็จด้วยก็มาว่าจ้างกันใหม่ หรือที่นิยมทำกันก็คือเจ้าของบ้านอาจจะไปจ้างสถาปนิกคนอื่นมารับคุมงาน แต่ส่วนใหญ่ถ้าเป็นการจ้างสถาปนิกแบบบริษัท ในหน่วยงานของบริษัทผู้ออกแบบก็จะมีฝ่ายที่ควบคุมงานด้วย

ในงานออกแบบบ้าน จากอัตราค่าแบบที่ตกลงกันเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าก่อสร้างหรือแบบเหมาจ่ายนั้น จะรวมค่าจ้างวิศวกรโครงสร้างและงานระบบด้วย เพราะถือเป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งของการออกแบบ การจ้างสถาปนิกจะมีการทำสัญญาว่าจ้าง มีการส่งงานและชำระค่าจ้างเป็นงวดๆ เริ่มตั้งแต่ขั้นทำแบบร่าง ถ้ามีบริษัทสถาปนิกมากกว่าหนึ่งบริษัท มีการประกวดแบบ การทำสัญญาว่าจ้างจะเริ่มหลังจากมีการคัดเลือกบริษัทจากแบบร่างที่นำมาเสนอแข่งกัน โดยเจ้าของบ้านยังไม่ต้องเสียค่าจ้าง แต่ถ้าติดต่อกับสถาปนิกเพียงบริษัทเดียวและมีแนวโน้มว่าจะจ้างบริษัทนั้น การทำงานจะเริ่มต้นตั้งแต่ทำแบบร่าง สถาปนิกต้องเข้ามารับทราบความต้องการเจ้าของบ้านอย่างใกล้ชิด ถือว่ากระบวนการบริการวิชาชีพเริ่มขึ้นแล้ว ในสัญญาสถาปนิกอาจจะมีการขอเรียกมัดจำล่วงหน้าจำนวนหนึ่ง เพราะในขั้นแบบร่างนี้หากเจ้าของบ้านเห็นแนวทางการออกแบบแล้วไม่พอใจจะให้สถาปนิกทำงานต่อก็สามารถเลิกจ้างได้ โดยจ่ายค่าจ้างให้เฉพาะส่วนแบบร่างตามที่ตกลงไว้ และหาสถาปนิกคนใหม่มาแทน ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด หากจะมีเคืองกันบ้างนิดหน่อย เป็นเรื่องธรรมดา…อย่าซีเรียส

……………
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...