สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกแบบบ้าน

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกแบบบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อบ้านจัดสรร หรือการจ้างสถาปนิกมาออกแบบนั้น ถ้ามีที่ดินหรือทำเลเหมาะเอาไว้แล้ว คนส่วนใหญ่จะนึกถึงรูปร่างหน้าตาของบ้านเป็นอันดับแรกๆ เพราะทุกคนย่อมอยากได้บ้านสวยในไสตล์ที่ถูกใจ

รองลงมาคือประโยชน์ใช้สอยซึ่งต้องศึกษาดูจากแบบผังของบ้าน ซึ่งแต่เดิม (ตอนที่ยังไม่ได้เป็นสถาปนิก) ดิฉันเคยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสัญชาตญาณในการเลือกที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับธรรมชาติของตนเอง เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆในโลก แต่ความจริงกลับกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะมนุษย์นั้นมีวิถีทางในการเลือกสรรที่อยู่อาศัยต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วไป หมายความว่า มนุษย์สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เกือบทุกประเภท ไม่ว่าย่ำแย่สุดๆหรือเลิศหรูสุดๆ และถ้ามีโอกาส มีความสามารถ มนุษย์จะพยายามขยายขอบเขตความต้องการในการบริโภคออกไปได้อย่างไม่สิ้นสุด ทั้งนี้พูดรวมกันทั้งเรื่องการกิน การอยู่อาศัย รวมถึงการบริโภคในด้านอื่นๆด้วย และบางครั้งก็ขัดกับธรรมชาติของตัวเอง อาจจะฝืนธรรมชาติจนทำให้เสียสมดุลในชีวิตหรือเสียสุขภาพกันไปเลยก็มี ยกตัวอย่างเช่นเรื่องอาหารการกินเป็นต้น คนเราสามารถกินได้ไม่จำกัดจนทำให้เกิดโรคหัวใจ เส้นเลือดตีบ ในขณะที่สัตว์อื่นๆทั้งหลายยกเว้นสัตว์ที่มนุษย์เอามาเลี้ยง จะกินอยู่ตามมาตรฐานเดิมๆที่ธรรมชาติกำหนดมา ดังนั้น หากจะมาให้คำตอบอันเป็นสูตรสำเร็จเกี่ยวกับการเลือกแบบบ้านที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยทุกประเภท ย่อมจะเป็นไปไม่ได้

เมื่อเริ่มออกแบบหรือเลือกแบบ จำนวนและประเภทของสมาชิกในบ้าน เป็นปัจจัยแรกที่ต้องคิดถึง ซึ่งเป็นจำนวนสมาชิกทั้งในปัจจุบันและอนาคต บ้านจัดสรรส่วนใหญ่จะออกแบบสำหรับรองรับครอบครัวเดี่ยว มีห้องหลักๆตามจำนวนสมาชิกเบื้องต้นในครอบครัวยุคใหม่ ประกอบด้วย ห้องนอนใหญ่สำหรับคู่สามีภรรยา ห้องนอนลูก 1 – 2 ห้อง ถ้าหรูขึ้นมาอีกนิดก็จะมีห้องสำหรับคนรับใช้เพิ่มมาอีก 1 ห้อง และถ้าเป็นบ้านใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย อาจจะมีห้องนอนสำหรับแขกหรือญาติผู้ใหญ่ 1 ห้อง ซึ่งมักออกแบบให้อยู่ชั้นล่างของบ้าน เพื่อการเข้าถึงที่สะดวก โดยเฉพาะห้องคนแก่ที่ต้องคำนึงถึงสุขภาพ

สิ่งน่าคิดในการพิจารณาแบบบ้านคือจำนวนและสภาพการณ์ของผู้อยู่อาศัยในอนาคต แม้ว่าจะไม่มีโฆษณาบ้านของโครงการไหนเอาภาพคนแก่ยักแย่ยักยันมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา แต่การมีญาติผู้ใหญ่วัยชราอยู่ในบ้านก็เป็นหนึ่งในความจริงตามโครงสร้างเดิมของสังคมไทยที่นับวันจะถูกลืม หรือแกล้งทำเป็นลืม ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อพ่อแม่เลี้ยงลูกมาจนโตมีงานมีการทำสามารถแยกตัวออกไปมีบ้านของตัวเอง พอถึงวันที่พ่อแม่แก่เฒ่าดูแลตัวเองไม่ได้ต้องย้ายไปอาศัยอยู่บ้านลูกๆ ก็มักจะกลายเป็นส่วนเกินของครอบครัวลูก ต้องมากั้นห้องกันใหม่ให้วุ่นวาย เป็นที่รังเกียจของลูกเขยลูกสะใภ้ ยิ่งถ้าแก่แล้วป่วยด้วยก็ยิ่งน่าสงสาร พ่อแม่บางคนได้รับเกียรติให้อยู่ห้องคนรับใช้หรือเอาห้องเก็บของมาใส่เตียงกับห้องน้ำเข้าไป และปรับให้เป็นห้องคนแก่อยู่ชั้นล่าง ถ้าไม่อยู่ใต้บันไดก็หลังบ้านซึ่งล้วนเป็นมุมอับ ไม่ดีต่อสุขภาพกายและใจ คนแก่บางคนโชคดีลูกๆมีหลานโตทันใช้ พอหลานโตเตรียมย้ายออกไปอยู่ข้างนอก ก็ได้เวลาประจวบเหมาะกับที่ปู่ย่าตายายแก่ๆย้ายเข้ามาเสียบแทนพอดี แต่โอกาสดีเช่นนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดกันง่ายๆ

ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน คนไทยมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตแบบครัวเดี่ยวกันมากขึ้น เกิดภาวะทอดทิ้งผู้ใหญ่วัยชรา และภาวะขาดคนเลี้ยงดูบุตรหลาน ต้องจ้างคนแปลกหน้ามาเลี้ยง หรือต้องเอาลูกหลานไปฝากเลี้ยงตามสถานรับเลี้ยงเด็ก เหล่านี้หากมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาก็มองได้ แต่หากมองว่าเป็นปัญหา ก็เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกเพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่หลายมิติ ทั้งในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และมิติด้านจริยธรรม แต่หากมองในมิติของการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นทั้งการรองรับพฤติกรรมและกำหนดแบบแผนพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยในเวลาเดียวกัน ย่อมปฏิเสธไม่ได้เลยว่าลักษณะของบ้านที่สถาปนิกออกแบบ ทั้งบ้านจัดสรรหรือแม้แต่บ้านที่มีการจ้างสถาปนิกมาออกแบบตามใจผู้อยู่ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือมักจะเป็นแนวคิดที่มุ่งแต่จะตอบสนองตัวเอง และตอบสนองปัจจุบันเป็นหลัก การตัดสินคุณค่าจะเน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ โดยไม่ได้คำนึงถึงอดีตรากเหง้าของความเป็นมนุษย์ ความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในครอบครัวและชุมชน อีกทั้งยังไม่ได้วางแผนอนาคตเอาไว้ยาวไกลนัก ดังจะเห็นได้จากแนวทางการโฆษณาและรูปแบบบ้านจัดสรรที่มีขายทั่วไป ดังที่กล่าวมาแล้วว่าปัญหาเหล่านี้มีหลายสาเหตุ แต่ถ้าสถาปนิกผู้ออกแบบมีความละเอียดอ่อนหรือมีประสบการณ์ที่ยาวนานพอสมควรก็จะช่วยให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับเจ้าของบ้าน เช่นเดียวกับการเลือกซื้อโครงการบ้านจัดสรรที่มีคุณภาพ(บางโครงการ) ก็มักจะช่วยมองเรื่องนี้แทนเจ้าของบ้านด้วย แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า เนื่องจากแบบบ้านจัดสรรส่วนใหญ่หรือทั้งหมดที่มีขายกันในประเทศนี้ เป็นแบบที่ลอกเลียนมาจากบ้านในตะวันตก และวัฒนธรรมตะวันตกก็บังเอิญเป็นวัฒนธรรมที่นิยมการมีครอบครัวเดี่ยว ไม่ใช่ครอบครัวขยายที่มีปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงลูกหลานเหมือนสังคมไทย จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่สไตล์อาคารแบบตะวันตกจะมาเป็นตัวส่งเสริมแกมบังคับกลายๆให้คนไทยใช้ชีวิตแบบฝรั่ง ด้วยเหตุผลนี้ วันหนึ่ง…บ้านพักคนชราก็คงจะเกลื่อนเกร่อเมืองไทยเช่นเดียวกับในประเทศตะวันตกเหล่านั้น โดยมี ‘คนออกแบบบ้าน’ เป็นหนึ่งในจำเลยสังคม

……………..
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...