บ้านของคนรุ่นใหม่

โฆษณาขายโครงการที่อยู่อาศัยในประเทศนี้ ส่วนมากจะสื่อสารกับผู้บริโภคว่าเป็นบ้านสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้างๆ อาจจะหมายความถึงช่วงอายุของผู้ซื้อ

ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกวิถีชีวิต สืบเนื่องกับเรื่องของฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงาน และอาจจะหมายถึงรสนิยมที่ทันสมัย หรือในบางโอกาสอาจจะหมายถึงผู้คนในสังคมเมือง

จุดขายหลักที่นิยมกันในการขายที่อยู่อาศัยสำหรับคนรุ่นใหม่คือการออกแบบที่ดูทันสมัย ทำเลเดินทางที่สะดวกกับการประกอบอาชีพและการพักผ่อน ขนาดพื้นที่กะทัดรัด กับราคาขายที่ไม่สูงจนเกินไปนัก และที่แน่นอนที่สุดคือจะต้องบอกว่า ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

หลักการในการออกแบบอาคารพักอาศัยให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไรนั้น ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ในตำราการออกแบบสถาปัตยกรรม แต่หากกล่าวถึงเรื่องการออกแบบพื้นที่ใช้สอย การจัดวางห้องต่างๆให้ถูกกับรูปแบบการใช้งานสำหรับคนวัยทำงานที่กำลังเริ่มสร้างครอบครัว มีบ้านหลังแรก ส่วนใหญ่ก็มักจะหมายถึงบ้านพักอาศัย 2 ชั้น ที่ประกอบไปด้วยห้องพื้นฐานในส่วนชั้นล่าง ได้แก่ ห้องรับแขกซึ่งรวมห้องนั่งเล่นเข้าไว้ด้วยกัน ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องเก็บของ โดยอาจมีห้องนอนเล็กสำหรับแขกหรือแม่บ้านอยู่ด้วยในชั้นล่าง ถ้ามีพื้นที่เพียงพอ ส่วนชั้นบนก็มักจะมี ห้องนอนใหญ่ 1 ห้องที่มีห้องน้ำในตัว และห้องนอนเล็กอีก 1 หรือ 2 ห้อง ซึ่งถ้าเป็นบ้านพักอาศัยระดับมาตรฐานทั่วไป ห้องนอนเล็กก็จะออกแบบให้ใช้ห้องน้ำร่วมกัน โดยพื้นที่ชั้นบนและชั้นล่างเชื่อมต่อกันด้วยบันไดหลักภายในบ้านเพียงตัวเดียว พื้นที่ใต้บันไดอาจปล่อยให้เปิดโล่งหรือบางบ้านอาจใช้เป็นห้องน้ำหรือออกแบบเป็นห้องเก็บของ

นอกจากนี้ยังมีส่วนพื้นที่ภายนอกที่จำเป็น เช่น เฉลียง ระเบียง ทางเดิน พื้นที่ส่วนซักล้าง และครัวไทย ซึ่งนิยมเอาไว้นอกบ้านเพราะมีกลิ่นควันมากในการประกอบอาหาร ซึ่งพื้นที่ภายนอกเหล่านี้จะมีมากหรือน้อย ในกรณีที่เป็นบ้านออกแบบเอง สร้างเองจะขึ้นอยู่กับขนาดของบ้าน และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย แต่ถ้าเป็นบ้านจัดสรรที่สร้างออกมาตามแบบมาตรฐานของโครงการ การคำนวณขนาดพื้นที่ส่วนนี้จะคิดตามสัดส่วนขนาดพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด

ขนาดของพื้นที่ใช้สอยส่วนต่างๆในบ้าน จะถูกกำหนดขึ้นจากขนาดสรีระร่างกายของคนเราและอาณาบริเวณที่ต้องการสำหรับการทำกิจกรรมในห้องนั้นๆเป็นพื้นฐาน ขนาดของเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็น ขนาดของที่ว่างทางเดิน ร่วมกับขนาดของโครงสร้าง เช่น บ้านทาวน์เฮ้าส์หรือตึกแถวทั่วไปจะมีระยะห่างของช่วงเสากว้าง 4-5 เมตร ขนาดดังกล่าวก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดขนาดห้องรับแขกในบ้านทาวน์เฮาส์ให้มีขนาด 4 X 5 คือประมาณ 20 ตารางเมตร หรือขนาดของห้องนอนที่เล็กที่สุด ไม่ควรเล็กกว่าขนาดของเตียงที่สามารถนอนได้ 1 คน บวกกับขนาดทางเดินในห้อง ที่ไม่ควรน้อยกว่า 80 ซม. ก็จะได้ขนาดขั้นต่ำของห้องนอนเดี่ยว ประมาณ 2.80 X 3 ตารางเมตร

ด้วยวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ซึ่งให้ความสำคัญกับการทำงาน ใช้ชีวิตนอกบ้านค่อนข้างมาก ประกอบกับราคาที่ดินที่สูงขึ้นในปัจจุบันทำให้บ้านของคนรุ่นใหม่มักมีขนาดไม่ใหญ่นัก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ หรือคอนโดมีเนียม-บ้านบนตึก แนวทางการออกแบบพื้นที่ใช้สอยจึงมุ่งเน้นความสะดวกสบายในการใช้งาน เน้นการตกแต่งให้สวยงามแบบ COMPACT มากกว่าการมีพื้นที่กว้างๆ กิจกรรมการพักผ่อนใช้เวลาว่างในบ้านของคนรุ่นใหม่ส่วนมากจะเป็นการดูหนังฟังเพลง ดูทีวี เปิดเครื่องเสียง การออกแบบจึงให้ความสำคัญการใช้พื้นที่กับส่วนรับแขกพักผ่อนค่อนข้างมาก รองลงมาคือห้องนอนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ถ้าเป็นบ้านที่มีสมาชิกหลายคน คนสมัยใหม่จะไม่นิยมการนอนร่วมห้องกันเหมือนคนสมัยก่อน แม้แต่ลูกๆเพศเดียวกันก็อาจขอนอนแยกห้องกันแบบฝรั่ง เพราะคนรุ่นใหม่จะเรียกร้องปัจเจกภาพของตนเองสูง ขนาดของห้องอาจจะเล็กไม่เป็นไร แต่ขอให้ได้นอนแยกกัน

ถัดมาเป็นห้องรับประทานอาหาร ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่นัก วางชุดโต๊ะเก้าอี้รับประทานอาหารได้ 4-6 ที่ ก็ถือว่าใหญ่มากแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น การงานและชีวิตนอกบ้าน ปัญหาการจราจร อาจทำให้สมาชิกไม่ค่อยมีโอกาสกลับบ้านมานั่งร่วมโต๊ะรับประทานอาหารพร้อมกันได้บ่อยนัก จึงทำให้ห้องครัวถูกออกแบบให้เล็กลงตามไปด้วย เพราะเชื่อกันว่าคนรุ่นใหม่ไม่นิยมทำอาหารรับประทานเอง ถ้าไม่รับประทานที่ร้านนอกบ้านก็ซื้ออาหารปรุงสำเร็จหรือกึ่งสำเร็จมาอุ่นไมโครเวฟ ครัวของคนรุ่นใหม่จึงมักเป็นครัวฝรั่ง บางทีลดขนาดลงจนเหลือแค่แพนทรีด้วยซ้ำ ส่วนบ้านไหนที่มีพื้นที่ภายนอกเหลือ ถ้าชอบทำกับข้าวก็อาจจะมีการต่อเติมขยับขยายไปทำครัวแบบไทยข้างหลังบ้าน เพื่อรองรับการต้มผัดแกงทอดโขลกคั่วกันอย่างถึงพริกถึงขิง

ห้องน้ำในบ้านสำหรับคนรุ่นใหม่ ถ้าเป็นโครงการราคาแพงๆ มักปรากฏว่าเป็นห้องที่ออกแบบหรูหราเกินกว่าความเป็นห้องสุขาและห้องอาบน้ำทั้งในแง่ของขนาด รูปแบบ อุปกรณ์ที่ใช้และวัสดุตกแต่ง แต่ขนาดมาตรฐานของห้องน้ำโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 X 2 ตารางเมตร ซึ่งมาจากขนาดของสุขภัณฑ์ โถส้วม เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า พื้นที่อาบน้ำหรืออ่างอาบน้ำซึ่งบ้านสมัยใหม่นิยมทำกันมากแต่ความจริงไม่ค่อยได้ใช้

สิ่งที่บ้านสมัยใหม่จะมีไม่เคยพอคือพื้นที่เก็บของหรือห้องเก็บของ เพราะพื้นที่ของบ้านมีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นบ้านออกแบบเองสร้างเองหรือบ้านจัดสรรก็มักจะหลงลืมหรือแกล้งทำเป็นลืมพื้นที่สำคัญส่วนนี้ เป็นเหตุผลทำให้บ้านที่อยู่อาศัยจริงในชีวิตประจำวันไม่สวยเหมือนบ้านในโฆษณาหรือบ้านในนิตยสาร เนื่องจากบ้านเหล่านั้นเป็นบ้านที่ไม่มีคนอยู่จริง จัดฉากขึ้นมาถ่ายรูป หากขึ้นชื่อว่าบ้าน อย่างไรเสียก็ต้องมีของเก็บ ของสะสม ทั้งที่เป็นของใช้ประจำ ของที่นานๆใช้ทีและของไม่ใช้ การมีพื้นที่เก็บของเพียงพอจะทำให้บ้านไม่รก บางบ้านที่เจ้าของรอบคอบก็จะบอกให้สถาปนิกออกแบบห้องเก็บของให้ดูกลมกลืนกับผนัง ดูแล้วเรียบโล่งสวยงาม ทำให้บ้านน่าอยู่ ดูทันสมัย สมกับคำว่าบ้านของคนรุ่นใหม่

……………..
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...