ครัวไทย (ตอนที่ 2)

เพราะคำกล่าวที่ว่า “YOU ARE WHAT YOU EAT” นั้นเป็นความจริงอยู่เสมอ การกินจึงเป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งหลายอย่าง และขั้นตอนของการปรุงอาหารก็เป็นเรื่องราวที่มีความหมายในตัวเองมากกว่าไปกว่าการหุงหาอาหารกินเพื่อความอยู่รอด

คนไทยกินอาหารไม่เหมือนคนจีนและฝรั่ง แม้แต่คนไทยแต่ละภาคก็กินอาหารไม่เหมือนกัน เครื่องใช้ไม้สอยและกิจกรรมการปรุงอาหารในครัวของแต่ละบ้านมีความแตกต่างหลายหลายไปตามพฤติกรรมการกิน ครัวไทยแท้ๆจะไม่มีรูปทรงที่ชัดเจนตายตัว ต้องการพื้นที่ซึ่งมีความยืดหยุ่น สามารถรองรับกิจกรรมได้หลายประเภท โดยเฉพาะการใช้ชีวิตแบบครอบครัวขยาย ที่มีการประกอบอาหารเพื่อคนจำนวนมากในบ้าน อาจมีสมาชิกในบ้านมาช่วยในการทำครัว วิธีการใช้พื้นที่ในครัวของคนไทยแต่ก่อนจึงบ่งบอกรูปแบบความสัมพันธ์ของคนในบ้าน และเป็นตัวกำหนดแนวทางการใช้พื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น การล้อมวงกันช่วยเตรียมอาหาร การนั่งตำเครื่องแกงอยู่กับพื้น การจัดวางหม้อแกงสำหรับหุงต้มไว้นอกชาน หรือวางตำแหน่งครัวเอาไว้ปลายลมเพื่อไม่ให้กลิ่นอาหารรบกวน ซึ่งต้องการพื้นที่ค่อนข้างมาก ไม่ต้องการเฟอร์นิเจอร์สำหรับวางของหรือนั่งทำงานเพราะส่วนใหญ่จะนั่งกับพื้น ในขณะที่ครัวในบ้านปัจจุบันเป็นครัวขนาดเล็ก ที่มีเคาน์เตอร์และเตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์หลัก ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งภายในตัวบ้านติดกับห้องอาหาร การปรุงอาหารไทยในครัวสมัยใหม่จึงถูกจำกัดให้ลดขั้นตอนและกิจกรรมที่หลากหลายลง

การออกแบบครัวของบ้านสมัยใหม่มาจากพื้นฐานการทำครัวแบบฝรั่ง เช่น มีเตาอบ เครื่องชงกาแฟ เครื่องบดอาหาร เครื่องคั้นน้ำผลไม้ เครื่องใช้ไม้สอยสำหรับครัวสมัยใหม่มักถูกออกแบบมาอย่างสวยงามราวกับเป็นของตกแต่งบ้าน คนมีบ้านโดยเฉพาะผู้หญิงจึงใฝ่ฝันถึงชีวิตในครัวแบบฝรั่งว่าเป็นสุดยอดแห่งครัว แม้ว่าจะไม่สะดวกในการประกอบอาหารอย่างที่ตนเองชอบรับประทานก็ไม่เป็นไร พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตจึงเปลี่ยนไป การออกไปกินอาหารบางอย่างนอกบ้านก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่สะดวกจะทำครัว พูดง่ายๆก็คือดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องยากที่ครอบครัวคนไทยสมัยใหม่จะทำอาหารดีๆกินเองที่บ้าน เพราะสภาพชีวิตและสภาพของครัวไม่อำนวย

ในการออกแบบครัว หากเป็นบ้านที่มีการว่าจ้างสถาปนิกมาออกแบบให้ตามใจเจ้าของบ้าน น่าจะเริ่มต้นจากการสำรวจความชอบในการกินอาหารและการปรุงอาหาร ว่าชอบรับประทานอาหารแบบไหน ถ้าชอบอาหารแบบตะวันตกก็ควรออกแบบครัวฝรั่งเป็นหลัก ถ้าชอบอาหารแบบตะวันออกก็ออกแบบทำครัวไทยๆเป็นหลัก

สำหรับคนที่ชอบมีครัวแบบไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการมีครัวสวยทันสมัย สามารถประยุกต์รูปแบบต่างๆเข้าด้วยกันได้ เช่น จัดวางตำแหน่งครัวเอาไว้ในที่ระบายอากาศได้ดี มีช่องเปิดระบายอากาศ เพื่อให้สามารถปรุงอาหารไทยที่มีกลิ่นรสจัดจ้านได้ตามชอบใจ โดยไม่ต้องกลัวว่ากลิ่น มีชานสำหรับทำกิจกรรมที่ยืดหยุ่น ออกแบบพื้นที่ใช้งานในครัวให้กว้างพอที่สมาชิกจะเข้าไปช่วยงานในครัวได้พร้อมๆกัน ซื้อตู้เย็นที่มีขนาดปานกลาง ไม่ใหญ่โตจนเกินไป เพื่อลดอัตราการกักตุนอาหาร เพื่อให้มีการหมุนเวียนของอาหารสดเข้ามาในบ้านอย่างสม่ำเสมอ

การตกแต่งประดับประดาครัวด้วยวัสดุซึ่งยากต่อการดูแลทำความสะอาดจะทำให้ไม่สะดวกต่อการใช้งาน และในระยะยาวจะเป็นตัวลดทอนกิจกรรมในครัวลงไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะครัวสำหรับอาหารไทยต้องเป็นครัวที่เลอะได้ เช็ดได้ ล้างได้ เปียกได้ ใช้วัสดุที่สามารถดูแลทำความสะอาดได้ง่าย ไม่มีผิวสัมผัสที่ดูดซับกลิ่นหรือไอน้ำมัน

การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในครัวปัจจุบันก็คงหนีไม่พ้นเคาน์เตอร์ ซึ่งนิยมจัดแผนผังกันอยู่ไม่กี่แบบ เช่น วางเคาน์เตอร์ครัวตามแนวยาวของผนังด้านใดด้านหนึ่ง เหมาะกับครัวพื้นที่เล็ก การจัดเคาน์เตอร์ครัวเป็นสองแถวเกาะติดผนังมีทางเดินตรงกลาง โดยให้มีระยะห่างอย่างต่ำ 1.20 เมตร หรือ 1.50 เมตร สำหรับทำงานพร้อมกันได้สองคนสบายๆ การจัดเป็นรูปตัวแอล ซึ่งน่าจะเป็นแบบยอดนิยมเพราะใช้งานได้สะดวกที่สุด ส่วนการจัดครัวเป็นรูปตัว U นั้นจะเหมาะกับพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ถ้าจะให้สอดรับกับการใช้งานตามสไตล์ครัวไทย การจัดครัวแบบมีเกาะกลางน่าจะเหมาะกับการใช้งานที่สุด คือให้มีเคาน์เตอร์อยู่ข้างๆ และมีเคาน์เตอร์กลางหรือโต๊ะกลางเอาไว้นั่งทำงานครัว ซึ่งสามารถหันหน้าเข้าหากันช่วยทำกันหลายคนได้ ทำไปพลางก็นั่งคุยกันไปพลาง แถมพื้นที่ตรงกลางยังทำหน้าที่เป็นโต๊ะรับประทานอาหารย่อมๆได้ด้วย ช่วยให้การใช้พื้นที่มีความยืดหยุ่น และได้อารมณ์ใกล้เคียงกับครัวไทยพอสมควร

การแบ่งโซนทำงานของครัวก็แบ่งหยาบๆได้เป็น โซนแห้ง โซนเปียก และโซนร้อน หรืออาจจะแบ่งออกเป็นบริเวณทำความสะอาดหรือเก็บล้าง บริเวณเก็บอาหาร ตู้เย็น บริเวณเตรียมอาหาร เช่น หั่นผัก และบริเวณประกอบอาหารเช่นเตาไฟ เตาอบ โดยมีลำดับการใช้งานตามอุปกรณ์ที่โยงเส้นได้เป็นรูปสามเหลี่ยม คือ อ่างล้างจาน ตู้เย็น และเตาไฟ ซึ่งระยะของแต่ละด้านรวมกันไม่ควรต่ำกว่า 3.60 เมตร และไม่เกิน 6.60 เมตร สำหรับครัวบ้าน ไม่เช่นนั้นจะกว้างเกินไปใช้งานไม่สะดวก

ครัวไทยที่เราเห็นในหนังมักจะดูมืดๆทึบๆ แต่ที่ถูกต้องแล้วครัวควรจะเป็นห้องที่สว่างมากที่สุดห้องหนึ่งในบ้าน สามารถรับแสงธรรมชาติได้เต็มที่ในเวลากลางวันและมีแสงไฟเพียงพอในเวลากลางคืน ครัวที่สะดวกและปลอดภัยควรคำนึงถึงการระบายอากาศเป็นสำคัญ ส่วนหุงต้มมักเป็นต้นกำเนิดจากเพลิงไหม้ ต้องอยู่ห่างไกลจากเชื้อเพลิง ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนและกันความร้อนได้ดี เลือกวัสดุที่แข็งแรงทนทานไม่เปลี่ยนสีหรือเสียหายชำรุดเมื่อใช้งานไปนานๆ ก็จะทำให้ครัวสวยและใช้งานได้ดี ซึ่งครัวที่น่าใช้ก็จะทำให้การกินอยู่ในบ้านสะดวกสบาย

……………..
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...