บ้านปลอดภัย

ถึงแม้อาคารที่ได้ชื่อว่า ‘บ้าน’ สำหรับคนแต่ละคนจะมีลักษณะแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นคฤหาสน์ ตึกสูง ตึกแถว กระท่อม เพิง หรือแม้แต่บ้านลอยน้ำ เรือนแพ ฯลฯ

ในบางครั้งรูปร่างหน้าตาบ้านอาจดูแล้วรู้สึกไม่เหมือนบ้าน แต่เมื่อคนเราตัดสินใจเลือกสถานที่ใดที่หนึ่งเป็นแหล่งพักอาศัยกินอยู่หลับนอน ถึงขั้นเรียกว่าบ้าน ย่อมหมายความว่าอาคารสถานที่แห่งนั้นจะต้องให้ความอบอุ่นปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยได้ดีที่สุด

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็มีคำกล่าวว่า ที่ปลอดภัยที่สุดคือที่อันตรายที่สุด

คำกล่าวนี้จะเป็นจริงหรือเท็จไม่มีใครพิสูจน์ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีภัยอันตรายต่างๆเกิดขึ้นภายในบ้าน เช่น ไฟไหม้ โจรปล้น น้ำท่วม บ้านทรุด รวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดอาชญากรรม ที่ทำให้สูญเสียสวัสดิภาพไม่ว่าในกรณีใดๆ ย่อมสั่นสะเทือนความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยอย่างรุนแรงกว่าภัยซึ่งเกิดกับสถานที่อื่นๆ

หากจัดอันดับภัยอันตรายลำดับต้นๆที่คนมีบ้านทุกคนหวาดกลัว อันดับแรกคือ ไฟไหม้บ้าน รองลงมาคือโจรปล้น ซึ่งคนมักพูดกันว่า โจรปล้นสิบครั้งดีกว่าไฟไหม้ครั้งเดียว ไฟไหม้ครั้งเดียวดีกว่าเสียบ้านไปทั้งหลังเพราะการพนัน แต่พอเอาเข้าจริงๆ คนส่วนใหญ่ก็จะกลัวโจรขึ้นบ้านมากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะสิ่งที่โจรปล้นไปนั้นไม่ใช่แค่ทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นความเชื่อมั่นในสวัสดิภาพของชีวิต ทำให้เกิดอาการหวาดระแวง เสียขวัญ ไม่มีความสุขกายสุขใจในการอยู่บ้านของตัวเองไปพักใหญ่ๆ ใครที่เคยโดนขโมยขึ้นบ้านคงจะเข้าใจถึงอาการสั่นผวาชนิดนี้ได้ดี นอนกลางค่ำกลางคืนก็นอนไม่หลับสะดุ้งผวา ได้ยินเสียงอะไรก็นึกว่าโจรเข้าบ้าน กว่าความรู้สึกกังวลใจวิตกจริตจะลดลงไปได้ก็ใช้เวลานานมาก และบางบ้านก็ยิ่งโชคร้ายหนัก เพราะถ้าขโมยขึ้นบ้านไหนสักครั้งแล้วก็มันมักจะหวนกลับมาอีก ทำให้เจ้าของบ้านประสาทกิน เครียดจัดแทบจะเป็นบ้าตายไปเลยก็มี

วิธีกันขโมยเข้าบ้านที่นิยมทำกันเป็นล่ำเป็นสันคือการทำรั้วสูง ติดเหล็กดัด เลี้ยงหมา บ้านไหนที่มีกำลังทรัพย์มากและกลัวโจรมากก็อาจติดตั้งระบบสัญญาณกันโขมย ติดตั้งกล้องวงจรปิด บางบ้านกลัวจัดถึงขั้นเดินสายไฟแรงสูงไว้รอบรั้ว วันดีคืนดีหมาแมวหรือลูกหลานเดินเฉียดไปใกล้โดนไฟช็อตตาย เจ้าของบ้านติดตะรางเสียก่อนที่จะได้จับขโมย เรื่องแบบนี้อาจฟังดูตลกแต่ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเสมอ

การออกแบบบ้านที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการโจรกรรมนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนมากกว่าการสร้างอาคารที่แข็งแรงมีรั้วรอบของชิด เพราะความปลอดภัยของบ้านเริ่มต้นจากความปลอดภัยของชุมชนโดยรวมเป็นสำคัญ ซึ่งการมีบ้านที่ปลอดภัยก็ต้องเริ่มต้นจากการเลือกทำเลที่ปลอดภัย เช่น ถ้าเป็นบ้านสมัยก่อนหรือบ้านต่างจังหวัด การเลือกย่านที่ปลอดภัยก็หมายถึงการเลือกทำเลในชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้มีระบบการดูแลซึ่งและกันของเพื่อนบ้านญาติมิตรในบริเวณใกล้เคียงช่วยกันเป็นหูเป็นตาและเป็นผู้ร่วมรักษาความปลอดภัยให้กับชุมชนโดยอัตโนมัติ ส่วนการเลือกทำเลปลอดภัยให้กับบ้านในชุมชนเมืองที่ผู้คนในสังคมชนิดนี้ไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ก็จะหมายถึงการเลือกโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่มีระบบรักษาความปลอดภัยของส่วนกลางที่มีคุณภาพไว้ใจได้

การออกแบบรูปทรงของอาคารให้ปลอดภัย เริ่มต้นที่การวางผังตัวบ้านลงบนที่ดิน ไม่ควรสร้างให้มีบริเวณที่มีซอกมุมอับหรือที่ลับตา ใช้รั้วโปร่งที่มองเห็นได้จากภายนอก มีการติดตั้งโคมไฟแสงสว่างในจุดที่จำเป็นไม่ให้มีมุมมืด การออกแบบภูมิทัศน์ภายนอก การจัดสวน ปลูกต้นไม้ก็ควรดูแลให้โปร่งโล่ง

ตัวอาคารต้องมีโครงสร้างที่มั่นคง และวัสดุที่เลือกใช้ควรเป็นวัสดุถาวรที่มีความแข็งแรงคงทน การออกแบบตำแหน่งช่องเปิดไม่ว่าจะเป็นประตู หน้าต่าง ช่องลม หรือช่องแสง ซึ่งอาจเป็นช่องทางที่คนร้ายใช้บุกรุกเข้าบ้าน นอกจากจะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามแล้วควรคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย ไม่ควรมีช่องเปิดในส่วนมุมที่ลับตา หรือถ้าจำเป็นต้องมีก็ต้องป้องกันด้วยการออกแบบรูปทรงหรือขนาดช่องที่คนร้ายไม่สามารถรุกล้ำเข้ามาได้ หรือถ้าไม่มั่นใจอาจจะต้องติดเหล็กดัดเพื่อป้องกัน รวมถึงตำแหน่งมือจับลูกบิดหรือกลอนเปิดปิดตรงช่องเปิด ต้องมั่นใจว่ามีการออกแบบก่อสร้างถูกต้อง ไม่เปิดช่องให้คนร้ายล้วงมือจากช่องหน้าต่างเข้ามาไขกลอนหรือเปิดล็อคประตูได้ ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ

วิธีที่ออกจะโบราณวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีสำหรับบ้านที่มีห้องหับมากมาย คือการติดกลอนเอาไว้นอกห้องด้วย ในเวลาที่ไม่มีคนอยู่ในห้องก็สามารถปิดกลอนไว้ได้ หากโชคร้ายคนร้ายงัดเข้ามาทางห้องใดห้องหนึ่งก็จะไม่สามารถเปิดออกมารุกรานห้องอื่นๆได้ แต่ข้อเสียคือถ้ามีการเผอเรออาจมีการไขกลอนปิดข้างนอก คนที่อยู่ข้างในเปิดออกมาไม่ได้

การเก็บทรัพย์สินเงินทองของมีค่าเอาไว้ในบ้านล่อโจรให้มาปล้นเป็นเรื่องที่ห้ามกันยาก เพราะธรรมชาติของคนเราจะรู้สึกว่าบ้านเป็นที่ปลอดภัย ซึ่งพวกโจรก็รู้กันทั้งนั้นว่าคนมีทรัพย์จะนิยมซื้อตู้เซฟมาเก็บสมบัติซ่อนไว้ในห้องนอน สะดวกแก่พวกหัวขโมยไม่ต้องไปรื้อค้นหลายแห่งให้เสียเวลา ขนพวกมายกเซฟไปทีเดียวทั้งตู้ การออกแบบห้องลับหรือตู้นิรภัยในส่วนอื่นๆของบ้านที่ไม่ใช่ห้องนอนจึงเป็นเรื่องที่ควรทำหากคุณไม่ชอบฝากแบงค์ โดยออกแบบให้ดูกลมกลืนกับส่วนอื่นๆของบ้าน ถ้าเป็นในสมัยโบราณ สถาปนิกผู้ออกแบบห้องลับเหล่านี้ในวังหรือในบ้านเศรษฐี เมื่อออกแบบเสร็จก็จะถูกฆ่าตายเพราะเจ้าของบ้านไม่อยากให้ใครรู้ความลับ

เชื่อกันว่าบ้านที่ออกแบบให้ดูโปร่งโล่ง จะปลอดภัยมากกว่าบ้านที่ทึบตัน เพราะมองเห็นได้จากภายนอก โจรคงไม่กล้าเข้า ซึ่งทฤษฎีนี้ก็ไม่แน่เสมอไป แต่ทฤษฎีที่สถาปนิกและนักสังคมวิทยาเชื่อตรงกันก็คือ รอยยิ้มและมิตรภาพของเพื่อนบ้านใกล้เคียงในชุมชน ช่วยป้องกันภัยให้บ้านของเราได้ดีกว่ารั้วสูง หมาดุ และเหล็กดัด แน่นอนค่ะ

……………..
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...