ในฤดูกาลที่แสงแดดจัดจ้าท้องฟ้าสีครามสดใส เป็นช่วงที่ดอกไม้นานาชนิดพร้อมใจกันออกดอกสวยสะพรั่ง หากใครได้เคยไปเที่ยวชมสวนบัวในช่วงที่มีดอกบัวมากมายกำลังผลิบาน ก็มักจะหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของดอกไม้ชนิดนี้จนอยากมีสวนบัวเป็นของตัวเองที่บ้าน
คนที่ไม่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงบัวแต่อยากปลูกเพราะชอบดอกบัว สิ่งแรกที่ทำก็คงคล้ายๆกัน คือไปหาซื้อต้นพันธ์ุที่มีขายตามตลาดต้นไม้ทั่วไปมาทดลองปลูกแบบลองผิดลองถูก และมือใหม่หัดปลูกบัวทั้งหลายมักจะพบปัญหาทำนองเดียวกัน คือบัวไม่ออกดอกเหมือนตอนอยู่ที่ร้าน เลี้ยงไปเลี้ยงมามีแต่ใบ บ้างก็ต้นแคระแกร็นไม่สมบูรณ์ ใบเหลือง ใบเป็นจุดๆ หรือไม่ก็เน่าตายไปโดยไม่เข้าใจสาเหตุ
เราได้รับเกียรติจาก อาจารย์พราว หรือ น.ต.หญิงปริมลาภ (วสุวัต) ชูเกียรติมั่น สถาปนิกและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องบัวแห่ง ‘ปางอุบล’ มาแบ่งปันความรู้ดีๆ ให้กับคนที่อยากมีสวนบัวแสนสวยไว้เชยชมในบ้าน
.
สิ่งแรกที่อาจารย์พราวแนะนำคือ ให้สำรวจความพร้อมก่อนว่าบ้านของเรามีความเหมาะสมกับการปลูกบัวไหม บัวเป็นพืชที่ชอบแดด ต้องมีแสงแดดเพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง จึงจะเจริญงอกงามและออกดอกดี ถัดมาคือการเลือกชนิดของบัวให้ตรงกับขนาดพื้นที่ปลูก เนื่องจากสายพันธุ์บัวมีหลายขนาด แบ่งออกได้เป็น เล็ก กลาง ใหญ่ แต่ละขนาดต้น (หรือเรียกว่ากอ) ก็ต้องการพื้นที่ไม่เท่ากัน ซึ่งขนาดของดอกจะไม่ใช่ตัวชี้วัดขนาดของกอ เพราะบัวบางสายพันธุ์ดอกเล็กนิดเดียวแต่มีขนาดกอใหญ่ บางสายพันธุ์ดอกใหญ่แต่ขนาดกออาจจะเล็ก บัวที่ขายในตลาดต้นไม้โดยทั่วไปมักเป็นบัวขนาดกลางถึงใหญ่ และเป็นบัวที่บานกลางวัน ถ้าปลูกในภาชนะต่างๆ ไม่ได้ขุดบ่อหรือทำบึงบัว ขนาดพื้นที่ปลูกแต่ละกอ ภาชนะปลูกสำหรับบัวขนาดกลางควรจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 45 ซม. ลึก 45 ซม. ภาชนะปลูกสำหรับบัวขนาดใหญ่ควรจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 80 ซม. ลึก 60 ซม. ถ้าเราไปซื้อบัวพันธุ์ที่เหมาะจะปลูกน้ำตื้นมาปลูกในน้ำลึกจะเติบโตไม่ค่อยดีและไม่ค่อยออกดอก
หากตั้งใจจะเลี้ยงบัวให้ได้ผลดีออกดอกสวย การทำความรู้จักสายพันธุ์และชนิดของบัวก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยแบ่งกลุ่มหลักๆ ออกเป็น
.
1. ปทุมชาติ (Lotus)
ก็คือบัวหลวงที่ใช้ไหว้พระ เหง้า(ราก) ไหล เกสร กลีบ และเมล็ด นำมาปรุงเป็น อาหารและยา
2. อุบลชาติ (Waterlily)
มีหลายหลายกลุ่ม(สกุลย่อย) ได้แก่
- บัวสายหรือบัวกินสาย (Tropical night blooming waterlily) เริ่มบานตอนกลางคืน หุบตอนสาย ถึง บ่ายต้น คนไทยเก็บก้านดอกที่เรียกว่าสายบัวไปประกอบอาหาร
- บัวผัน-เผื่อน (Tropical day blooming waterlily) เริ่มบานช่วงสาย หุบบ่ายแก่ นิยมปลูกประดับในสวน
- บัวฝรั่ง (Hardy waterlily) เริ่มบานช่วงเช้ามืด หุบบ่ายต้น ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตอบอุ่นหนาว
- บัวยักษ์ออสเตรเลีย (Australian waterlily) เริ่มบานช่วงสาย หุบบ่ายแก่เกือบค่ำ ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปออสเตรเลีย
- บัวอเมริกันบานกลางคืน (American night blooming waterlily) เริ่มบานตอนกลางคืน หุบตอนเช้า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกา ถือเป็นพืชรุกรานชนิดหนึ่ง จึงไม่แนะนำสำหรับการปลูกเลี้ยงทั่วไป
3. บัววิกตอเรีย (Victoria)
บัวกระด้ง (Giant waterlily) จุดเด่นคือใบใหญ่ยกขอบตั้ง หลังใบ-กลีบดอกมีหนาม ถิ่นกำเนิดจากลุ่มแม่น้ำอะเมซอน บราซิล โบลิเวียอาร์เจนตินา
.
4. บัวยูรีเอลี (Euryale)
บัวถาด (Prickly waterlily หรือ Gorgon Plant) จุดเด่นคือใบใหญ่ยกขอบนิด ๆ ทั้งหน้า-หลังใบ- กลีบดอกมีหนามแหลม พบในประเทศจีน อินเดีย ปากีสถาน รัสเซีย หรือประเทศเขตอบอุ่นหนาวในเอเชีย เมล็ดกินได้เรียกว่า Foxnut หรือ เคียมซิก ในภาษาจีน (เป็นเครื่องยาจีนและอาหาร)
การที่เรารู้จักสายพันธุ์บัวทำให้เราเข้าใจว่าต้องดูแลอย่างไร และรู้ว่าบัวชนิดไหนบานเวลาไหน จะได้เลือกปลูกชนิดของบัวที่บานให้เห็นดอกสวยๆในเวลาที่เราอยู่บ้าน การซื้อบัวจากตลาดต้นไม้ที่คนขายไม่ได้ปลูกเอง อาจจะไม่มีข้อมูลที่ลงลึกเกี่ยวกับสายพันธุ์ ถ้าเราใส่ใจเลี้ยงบัวอย่างจริงจัง ควรเลือกซื้อหาต้นพันธุ์บัวจากแหล่งที่ผู้ขายมีสวนบัวและปรับปรุงพันธุ์เอง
ปัญหาที่คนซื้อบัวมือใหม่เจอบ่อยๆ คือเมื่อซื้อบัวหลากสีที่ร้านในตลาดต้นไม้นิยมเอาบัวหลายต้นมาจับใส่รวมกันเพื่อให้ดูสวยสะดุดตาเวลาวางขาย เวลาที่นำมาปลูกในบ้านก็ไม่เข้าใจว่า บัวหลากสีที่ดูเหมือนเป็นต้นเดียวหรือกอเดียวกันนั้น ที่แท้แล้วเป็นบัวหลายต้น หากจะให้เจริญเติบโตดีก็ต้องนำมาลงแยกกัน ไม่เช่นนั้นก็จะแคระแกร็นหรือไม่สวยเหมือนที่ร้าน
ดินปลูกบัว
เมื่อซื้อพันธุ์มาแล้วจะมีดินเดิมติดรากมานิดหน่อย หรือไม่ถึงครึ่งกระถาง เราก็ต้องไปหาซื้อดินมาเพิ่มและรื้อปลูกใหม่ ดินปลูกบัวสามารถใช้ดินเหนียวที่มีขายทั่วไป แต่เวลานำมาใช้ต้องแช่ให้นุ่มเหมือนดินน้ำมันที่เรานวดแล้วให้เด็กปั้นเล่น ใส่กระถางปลูกตามปกติ ห้ามกดอัด เพราะดินจะแน่นเกินทำให้รากไม่เดิน บัวส่วนใหญ่ที่ตายตอนรื้อปลูกใหม่มักเกิดจากปัญหาดินอัดแน่นเกินไป แต่ถึงเราจะปลูกในดินอย่างถูกวิธี ก็ไม่ได้หมายความว่าบัวที่เราปลูกจะสวยทันที หลังจากที่เรานำบัวที่ซื้อมาลงอ่างปลูกในดินใหม่ ช่วงแรกบัวของเราอาจจะดูโทรมอยู่สักประมาณเกือบเดือน แล้วจะค่อยๆฟื้นกลับมาสวยเป็นปกติ
การใส่ปุ๋ย
เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับบัวที่ปลูกในกระถาง เราสามารถใช้ปุ๋ยบัวสำเร็จรูปที่ขายอยู่ทั่วไปมาใส่ได้ โดยการใส่ปริมาณมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และความเข้มข้น ดูจากข้อมูลที่ระบุในฉลาก เช่น เดือนละสองก้อน ทั้งนี้ถ้าบัวของเราปลูกในที่มีแดดจัด ต้นสามารถสังเคราะห์แสงได้ดี การใส่ปุ๋ยก็อาจจะไม่ต้องถี่มาก อาจจะลดลงเหลือเดือนละก้อนเดียว ต้องระวังไม่ใส่ปุ๋ยมากเกินไปบัวอาจจะตายได้
เลี้ยงปลาในอ่างบัว
อ่างบัวเป็นพื้นที่มีน้ำขัง หลายคนกลัวจะมียุงมาวางไข่ ก็สงสัยว่าเราจะเลี้ยงปลาในอ่างบัวได้หรือไม่ คำตอบคือ เลี้ยงได้ แต่ต้องเป็นปลาที่ไม่กินพืช รวมถึงปลาไม่กินพืชที่ห้ามเลี้ยงในอ่างบัวคือปลาเทศบาล เพราะเป็นปลาที่จะคลุกคุ้ยขุดโคลนทำให้ดินบัวเสียหาย
ศัตรูของบัว
มีทั้งสิ่งมีชีวิตที่มองไม่เห็นก็คือพวกเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อรา และศัตรูที่มองเห็นคือสัตว์กินพืชทุกชนิด โดยเฉพาะเต่า ภัยจากเชื้อราจะมาตามฤดูกาล ทำให้เกิดโรคใบจุด เราจะสังเกตเห็นใบบัวมีจุดหรือมีจ้ำเหลืองๆ ถ้าเป็นในระยะเริ่มแรกไม่รุนแรงก็จัดการได้ด้วยการเด็ดใบที่เป็นจุดทิ้ง อาการใบเหลืองอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ถ้าใส่ปุ๋ยเยอะไป ใบก็จะเหลืองและไหม้ ซึ่งจะเป็นทั่วทั้งต้น ต่างจากใบเหลืองที่เกิดจากโรคจะเป็นแค่บางจุด ทำให้เราจำแนกได้ว่าอาการใบเหลืองนั้นเกิดจากสาเหตุใด การเด็ดใบทิ้งจะเด็ดจนโกร๋นไม่ได้ ควรเหลือเอาไว้อย่างน้อย 5 ใบเพื่อให้พืชได้ใช้สังเคราะห์แสง
.
สำหรับศัตรูพืชที่มองเห็นคือสัตว์กินพืชต่างๆ เช่น เต่า ปลาคาร์พ ปลานิล ปลาแรด ปลาสวาย และปลาเงินปลาทอง หอย ปลาที่เลี้ยงในอ่างบัวได้คือปลาหางนกยูง กับปลาสอด ใครที่เจอลูกน้ำหรือมียุงมาไข่ในอ่างบัวแสดงว่า ตำแหน่งที่ปลูกบัวมีแสงแดดส่องถึงไม่เพียงพอ มีร่มเงามากเกินไป การมียุงในอ่างบัวบ่งบอกได้ทันทีว่าพื้นที่ปลูกของคุณไม่เหมาะกับการปลูกบัว นอกจากสัตว์กินพืชข้างต้นแล้ว บางครั้งนกก็เป็นปัญหา เพราะจะชอบบินมาจิกใบบัวให้ขาดเสียหาย บางพื้นที่มีศัตรูที่คาดไม่ถึงคือปูนา และที่น่ากลัวอีกอย่างคือ หอยเชอร์รี่ ถ้าเจอในอ่างบัวต้องรีบจัดการออกทันที ส่วนพวกคางคก ปาด และเขียด นั้นถ้าเจอไข่ต้องรีบตักออก เพราะช่วงที่เป็นลูกอ๊อดจะแทะกินใบบัว ส่วนพวกแมลงศัตรูบัวก็คือ หนอนพับใบ ถ้าเจอก็ต้องรีบปลิดใบที่มีปัญหาทิ้ง
วงจรชีวิตตามฤดูกาล
การเลี้ยงบัวบางพันธุ์จะมีช่วงที่พักตัวหรือจำศีลในบางฤดูกาล ในช่วงปลายฝนต้นหนาวดอกบัวจะออกน้อย ถ้าเป็นช่วงที่อุณหภูมิของอากาศเริ่มลดหรืออากาศเปลี่ยนบัวของเราจะมีช่วงชะงักดอก หรือบางต้นอาจสลัดใบทิ้งเหลือแต่เหง้าอยู่ใต้ดิน คนเลี้ยงบัวก็ไม่ต้องตกใจคิดว่าบัวของเราป่วยหรือใกล้ตาย เพราะเมื่อผ่านช่วงพักตัวเข้าสู่ฤดูกาลใหม่และบำรุงเลี้ยงดูถูกวิธี ได้รับแดดเต็มที่ ไม่มีโรคเบียดเบียน ก็จะกลับมาติดดอกสวยสะพรั่งอย่างเดิม
การดูแลตัดแต่ง
บัวไม่ได้เป็นพืชที่ใบร่วงต้องคอยกวาดเก็บก็จริง แต่ถ้าในอ่างบัวของเรามีใบเน่า หรือดอกโรยจะต้องรีบเก็บออกให้หมด รวมถึงตะไคร่น้ำก็ต้องหมั่นกำจัด ไม่เช่นนั้นมันจะเน่าอยู่ในอ่าง นอกจากจะดูไม่สวยงามยังอาจเป็นที่สะสมของเชื้อโรค ทำให้น้ำเน่าเสีย เพราะในภาชนะที่จำกัดไม่มีระบบน้ำช่วยหมุนเวียนของเสียตามธรรมชาติเหมือนในห้วยหนองคลองบึง เราจึงต้องดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ
ด้วยความรู้เบื้องต้นที่อาจารย์พราวแบ่งปันสำหรับคนอยากปลูกบัวมาเปิดโลกทัศน์ และทำตามได้ไม่ยาก น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับมือใหม่ แม้ในช่วงแรกของการลองผิดลองถูกอาจมีปัญหาที่ต้องเผชิญบ้าง ก็ถือเป็นการเรียนรู้ที่จะทำให้เรามีทักษะที่ดีขึ้นเรื่อยๆในการปลูกบัวของเราเอง และถ้าใครอยากไปชมสวนบัวสวยๆ พร้อมกับศึกษาหาความรู้เรื่องบัวเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ก็สามารถแวะไปชมได้ที่ ‘ปางอุบล’ นอกจากจะได้สัมผัสกับความงดงามของบัวหลากสายพันธุ์แล้ว ยังได้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องบัวระดับแถวหน้าของประเทศไทยอีกด้วย
บ้าน “ปางอุบล” เริ่มปลูกและศึกษาบัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 โดย ดร.เสริมลาภ วสุวัต จนถึงปัจจุบันมีบัวพันธุ์ต่างๆ มากกว่า 650 พันธุ์ เป็นพันธุ์แท้ที่สะสมจากแหล่งต่างๆ จากผู้ผลิตนักผสมพันธุ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงพันธุ์ที่ “ปางอุบล” ผสมและปรับปรุงพันธุ์เอง เปิดให้ผู้สนใจเยี่ยมชม เรียนรู้ ศึกษาบัวแต่ละสายพันธุ์ ตั้งแต่เวลา 9:00 น. – 15:00 น. หยุดทุกวันจันทร์ พร้อมทั้งพูดคุยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกเลี้ยงบัว รวมถึงจำหน่ายพันธุ์บัวสายพันธุ์แท้ ที่ได้รับอนุญาตจากผู้ผลิต “ปางอุบล” อัตราค่าใช้จ่ายในการเข้าชมคนละ 100 บาท ผู้สนใจสามารถติดต่อนัดหมายล่วงหน้าเพื่อแจ้งเวลาเข้าชมได้ที่
โทร: 912956545
อีเมล์: pangubon1969@gmail.com
เฟซบุ๊ค: facebook.com/Pangubon1969
อ้างอิง
หนังสือการจำแนกจำพวกของบัวที่ปลูกเลี้ยงในประเทศไทย ผู้เขียน น.ต.หญิงปริมลาภ (วสุวัต) ชูเกียรติมั่น
https://www.pangubon.com/b/1