ห้องน้ำ (ตอนที่1)

silverman-toilet-1

บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินคำพูดว่า ห้องน้ำ คือสวรรค์ส่วนตัวภายในบ้าน บรรดานักโฆษณาสุขภัณฑ์ทั้งหลายมักนำภาพความสุขสำราญของการใช้เวลาว่างในห้องน้ำสุดหรูมาขายฝันล่อใจลูกค้า โดยไม่ลืมที่จะตอกย้ำถึงความสบายที่เป็นส่วนตัว ความมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากแยกส่วนการใช้งานของห้องน้ำและห้องส้วมออกจากกันอย่างเด็ดขาด จะพบว่าห้องอาบน้ำหรือพื้นที่อาบน้ำนั้น ไม่ใช่พื้นที่ซึ่งต้องการความเป็นส่วนตัวแบบสุดๆอย่างที่เข้าใจกัน

การขับถ่ายน่าจะเป็นพฤติกรรมส่วนตัวเพียงอย่างเดียวที่คนเราไม่น่าจะทำร่วมกับใครอื่นได้แม้แต่กับคนรัก แต่ในภาพยนตร์ต่างประเทศหลายเรื่องนิยมเปิดเผยภาพนางเอกหรือพระเอกกำลังนั่งส้วมไปพร้อมๆกับการอัดบุหรี่เข้าปอดอย่างชื่นใจ พลางสนทนากับคนรักอย่างออกรส ดูแล้วเกือบจะโรแมนติกเพราะในหนังที่เราดูนั้นเห็นแค่ภาพกับได้ยินแค่เสียง ไม่ได้มีกลิ่นออกมาด้วย

เคยได้ยินว่าคู่สมรสที่แต่งงานกันไปนานๆหลายคู่ก็นิยมใช้เวลาถ่ายทุกข์เป็นเวลาสนทนากัน โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่ถูกวันเวลาเปลี่ยนบทบาทจากหญิงสาวสุดที่รักเป็นภรรยาจอมบ่น จะชอบดักคุยกับสามีตอนเขาเข้าส้วมนี่เอง เพราะเป็นเวลาที่อีกฝ่ายหนึ่งลุกหนีไปไหนไม่ได้ ต่อให้เป็นเรื่องไม่น่าฟังแค่ไหนก็ต้องทนฟัง ป้องกันตัวได้อย่างมากก็แค่อุดหู

หากมองย้อนไปในอดีตของแต่ละชนชาติ จะเห็นว่ากิจกรรมการอาบน้ำเป็นกิจกรรมสาธารณะ และบางชาติก็ยังคงวัฒนธรรมการอาบน้ำแบบหมู่มาจนปัจจุบันนี้ โดยไม่ถือว่าการเปลือยกายต่อหน้าบุคคลอื่นในห้องน้ำเป็นความอุจาด เช่น ชาวญี่ปุ่น และชาวตะวันตกบางประเทศ

วัฒนธรรมการอาบน้ำของคนไทยไม่เด่นชัด สมัยก่อนนิยมอาบน้ำตามแม่น้ำลำคลอง คนไทยถือว่ากิจกรรมการอาบน้ำเข้าส้วมเป็นของต่ำ จึงไม่สร้างห้องน้ำห้องส้วมในบ้าน สำหรับพระเจ้าแผ่นดินจะมีการสร้างห้องส้วมลอยน้ำเรียกว่า ‘ตำหนักแพ’ จวบจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้เริ่มมีการสร้างห้องอาบน้ำตามอย่างของชาวตะวันตกขึ้นเป็นครั้งแรกที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ในห้องน้ำมีอ่างอาบน้ำและมีฝักบัวทองเหลืองอย่างสวยหรู โดยก่อนพระเจ้าแผ่นดินจะทรงเปิดน้ำฝักบัวเพื่อสรงสนาน มหาดเล็กจะต้องเดินขึ้นบันไดเวียนเพื่อเอาน้ำขึ้นไปเติมในถังเก็บน้ำซึ่งติดตั้งไว้บนที่สูง เพื่อให้น้ำไหลตามท่อลงมาที่ฝักบัว หลังจากนั้นก็มีบุคคลระดับสูงในสังคมเริ่มสร้างอาคารตามอย่าง และมีสร้างห้องน้ำเอาไว้ในบ้านเพื่อความสะดวกสบายสำหรับผู้มีฐานะ แต่ยังคงแยกให้ห่างจากห้องนอนและส่วนอื่นๆของบ้าน นานวันเข้า การมีห้องน้ำห้องส้วมอยู่ในบ้านก็กลายมาเป็นมาตรฐานหนึ่งสำหรับบ้านคนทั่วไป การอาบน้ำตามคลองหรือตามท่าน้ำ กลับกลายเป็นของแปลกหาดูยาก ช่างภาพที่ถ่ายรูปประกวดตามงานนิทรรศการต่างๆ ชอบถ่ายรูปคนอาบน้ำริมคลองเพื่อสื่อสารถึงวัฒนธรรมไทยที่หดหายไปจนแทบไม่เหลือ เพราะคนไทยปัจจุบันอาบน้ำแบบฝรั่งกันแทบทั้งประเทศ

การอาบน้ำแบบฝรั่งจำเป็นต้องมีห้องน้ำมิดชิด จะมาอาบกลางแจ้งโล่งๆอย่างบ้านเราไม่ได้เพราะเป็นเมืองหนาว การอาบน้ำอุ่นก็เป็นเรื่องจำเป็น มีการคิดค้นระบบสุขาภิบาลกันอย่างเป็นจริงเป็นจังตั้งแต่สมัยอียิปต์ โรมันเมื่อ 6000 กว่าปีมาแล้ว มีการวางระบบสุขาภิบาลอย่างดีในระดับเมืองเรื่อยมาจนถึงท่อน้ำในบ้าน ในสมัยก่อนนั้นการอาบน้ำร้อนจะต้องอาศัยแหล่งน้ำจากน้ำพุร้อนตามธรรมชาติเป็นหลัก รัฐบาลหรือเทศบาลจึงสร้างโรงอาบน้ำขึ้นเป็นของส่วนกลางเพื่อให้ประชาชนได้แบ่งกันอาบแบ่งกันใช้ เริ่มจากเป็นสถานที่อาบน้ำ ค่อยๆพัฒนาจนกลายมาเป็นสโมสรที่มีกิจกรรมบันเทิงสุนทรีอื่นๆมาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการนวดด้วยน้ำมันหอมระเหย การทำผมทำเล็บ มีเกร็ดเล่าว่า อาชีพบริการอย่างหนึ่งที่ขึ้นหน้าขึ้นตามากในโรงอาบน้ำสมัยโรมันคือการรับจ้างถอนขนรักแร้ เท็จจริงประการใดไม่ทราบแต่ฟังแล้วก็ขำดี

โรงอาบน้ำในสมัยโรมัน ( Therme ) เป็นมากกว่าสถานที่อาบน้ำ โรงอาบน้ำเป็นแหล่งชุมนุมสโมสรของสังคมในสมัยนั้น เพราะการอาบน้ำมีความหมายอื่นนอกเหนือจากการชำระล้างร่างกายให้สะอาด แต่ยังเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ การสำเริงสำราญ ซึ่งอาจมีนัยยะเลยเถิดไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางเพศอีกด้วย

จุดเริ่มต้นวัฒนธรรมการอาบน้ำที่กลายเป็นกระแสยอดนิยมอีกแหล่งหนึ่งของโลกคือญี่ปุ่น การอาบน้ำของคนญี่ปุ่นมีความน่าสนใจในเชิงโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม องค์ประกอบหลักๆ ในห้องอาบน้ำของคนญี่ปุ่นจะมีฝักบัวเล็กๆ เก้าอี้ตัวเล็กๆ เป็นอุปกรณ์พื้นฐาน สิ่งสำคัญที่สุดขาดไม่ได้คือ อ่างอาบน้ำ แต่ธรรมเนียมก่อนที่จะลงอ่างอาบน้ำนั้นจะต้องทำความสะอาดร่างกายสระผม ใต้ฝักบัวและเก้าอี้เล็กๆ ให้สะอาดเรียบร้อยเสียก่อน เพราะอ่างน้ำจะต้องใช้ร่วมกันหลายคนไม่ว่าจะเป็นการอาบที่โรงอาบน้ำสาธารณะหรือที่บ้าน การล้างตัวให้สะอาดก่อนลงอ่างจึงจำเป็นมาก ถ้าเป็นการอาบน้ำที่บ้าน จะใช้น้ำนั้นอาบกันทั้งครอบครัว โดยจะมีเครื่องทำความร้อนเล็กๆ ทำให้น้ำคงความร้อนเอาไว้ เมื่ออาบน้ำเสร็จกันหมดทั้งครอบครัวแล้วจึงจะถ่ายน้ำออกไป

การลงอ่างของคนญี่ปุ่นนั้นจะลงตามลำดับอายุภายในครอบครัว เริ่มจากคนที่อายุมากที่สุดในบ้าน ไล่ไปถึงคนที่เด็กที่สุด บางครั้งก็เป็นลงอ่างร่วมกันในครอบครัว หรือถ้าหากมีแขกมาพักที่บ้าน คนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับแขกด้วยการให้ลงอ่างอาบน้ำก่อนคนในครอบครัว ส่วนการไปอาบนอกบ้านที่โรงอาบน้ำ เรียกว่า Sentou จะไม่อนุญาตให้คนที่มีการสักหลัง โดยเฉพาะพวกยากูซ่าเข้าใช้บริการ และบางแห่งก็มีการไม่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้าใช้งานด้วย ส่วนการแช่น้ำหรืออาบน้ำจากบ่อน้ำพุร้อนเรียกว่า ออนเซ็น นั้นมีเพื่อการพักผ่อน การไปออนเซ็นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการท่องเที่ยวไม่ใช่กิจกรรมในชีวิตประจำวัน

เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับห้องน้ำและการอาบน้ำของชนชาติต่างๆนั้นมีมากมาย กว่าจะพัฒนามาสู่รูปแบบห้องน้ำสากลที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันทุกวันนี้ โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ : )

……………..
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...