พยับหมอก

พยับหมอก

หนึ่งในสีสันของไม้ดอกที่ช่วยสร้างบรรยากาศโรแมนติกชวนฝันให้กับสวนของเราได้ดีเยี่ยมคือสีม่วงครามและสีฟ้า เพราะเป็นสีที่จับคู่กับใบไม้สีเขียวแล้วดูสวยงามล้ำลึก ไม่ใช่ตัดกันฉูดฉาดแบบสีเด็กอนุบาลอย่างสีเหลืองสีแดง และดอกไม้สีม่วงสวยชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันมากในสวนของบ้านเราคือ พยับหมอก ซึ่งนอกจากสีจะหวานสวยแล้วชื่อก็ยังไพเราะชวนฝันอีกด้วย

พยับหมอกเป็นต้นไม้กึ่งเลื้อยขนาดกลาง แตกต้นเป็นกอสูง ประมาณ 15 ฟุต มีกิ่งก้านสาขายักย้อนไปมา ต้นและกิ่งดูบอบบาง แต่มีความแข็งแรงมากกว่าต้นไม้ขนาดเดียวกัน ใบ เป็นใบเดี่ยว แตกใบกลุ่มตามข้อต้น ใต้ใบสากระคายมือ ทรงใบมนรี โคนใบแหลมเรียว ดอกสีครามออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ลักษณะคล้ายดอกเข็ม ขนาดดอกกว้าง 1.5 ซม. ยาวประมาณ3 ซม. มี 5 กลีบ และมีเส้นสีน้ำเงินเข้มแบ่งกลางกลีบดอกทุกกลีบเห็นเด่นชัดมาก ออกดอกได้ตลอดปีนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตกแต่ง เป็นไม้พุ่มต่ำก็ได้หรือคลุมดินก็ได้ถ้าคอยตัดแต่งไม่ให้สูงมาก หรือใช้ปลูกริมรั้วก็ดูดี ให้ดอกสวยงาม และมีความคงทนมาก ดอกมีกลีบบางแต่มีลักษณะเป็นช่อ ถ้าตัดกิ่งช่อมาประดับหรือปักแจกันก็จะสวยงามอยู่ได้หลายวัน

เช่นเดียวกับไม้ดอกจำนวนมากในบ้านเราที่มักมีถิ่นที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพวกที่มีสีสันสดใส เพราะไม้พื้นถิ่นของไทยส่วนใหญ่จะเป็นไม้ดอกหอมแต่สีสันเรียบๆ พยับหมอกเป็นไม้ที่มีมากในแถบอัฟริกา ชอบอยู่ที่แดดจัด หรือกลางแจ้ง แต่ชอบดินที่มีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ แม้จะไม่ต้องการดูแลมาก แต่ก็ต้องระวังโรคที่เกิดคือโรคใบไหม้และโรคเน่าที่จะเกิดเมื่อมีการเปลี่ยนฤดู การขยายพันธุ์ทำได้โดยวิธีตอนกิ่ง หรือปักชำ

การปลูกพยับหมอกนิยมปลูกแซมกับไม้ดอกที่มีทรงต้นและใบใกล้เคียงกันและมีโทนสีจของดอกเข้ากันได้ ไม่แนะนำให้ปลูกแบบหลากสีตัดกันเปรี้ยงปร้างจนดูเหมือนร่มแม่ค้าตามชายหาด ควรเน้นความกลมกลืนจะดูชื่นเย็นสบายตา ซึ่งจะว่าไปแล้ว การใช้สีม่วงครามในการตกแต่งบ้านหรือในสวนก็เป็นสีปราบเซียนอยู่เหมือนกัน เพราะต้องใช้รสนิยมและความรู้ในการจับคู่สีให้ออกมาดูดี และถ้าทำได้ลงตัวก็จะได้สีสันบรรยากาศที่ดูหรูหรามีระดับและสวยหวานดูโรแมนติกอย่าบอกใคร

พยับหมอกมีชื่อพื้นเมืองว่า เจตมูลเพลิงฝรั่ง เป็นไม้ในสายพันธุ์เดียวกับเจตมูลเพลิง ที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรมากมาย รากเจตมูลเพลิงได้ชื่อว่าเป็นยาในตำรับ “เบญจกูล” หรือ “เบญจกูลเสมอภาค” อันถือเป็นยาบำรุงธาตุทั้ง 4 และอากาศธาตุให้บริบูรณ์นั้น มีตำนานเล่าว่า เกิดจากครั้งหนึ่งมีฤๅษี 6 องค์ มาเสวนากัน โดยองค์แรกชื่อ “ปัพพตัง” บริโภคผลดีปลี องค์ที่สอง ชื่อ “อุธา” บริโภครากชะพลู องค์ที่สาม ชื่อ “บุพเทวา” บริโภคเถาสะค้าน องค์ที่สี่ ชื่อ “บุพพรต” บริโภครากเจตมูลเพลิง องค์ที่ห้า ชื่อ “มหิทธิกรรม” บริโภคเหง้าขิง โดยแต่ละองค์ต่างก็ได้พรรณนาสรรพคุณของสมุนไพรที่ตนบริโภคไปว่า แก้อชินโรคได้ ระงับเมื่อยขบได้ ระงับเสมหะและลมได้ ระงับโรคที่บังเกิดแต่ดีได้ ตามลำดับ ส่วนฤๅษีองค์ที่หก ไม่ได้บริโภคสมุนไพรใด แต่เป็นผู้ประมวลสรรพคุณของยาโดยรวมและตั้งชื่อตำรับยาว่า “เบญจกูลเสมอภาค” อย่างไรก็ดี การปลูกเพื่อใช้ทำยาต้องศึกษาข้อมูลวิธีการโดยละเอียด เพื่อให้ได้ผลดี และหลีกเลี่ยงการเกิดพิษ

เรียบเรียง: วีร์วิศ
All Rights Reserved

LivingDD Editor

เว็บไซต์ LivingDD.com เป็นสื่อในเครือ HI-CLASS Media Group นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบ้าน สวน ไลฟ์สไตล์ การตกแต่ง การออกแบบ มีเป้าหมายเป็นกลุ่มคนรักบ้าน นักออกแบบ ช่างฝีมือสาขาต่างๆ ที่มีความสนใจและติดตามหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ ตกแต่ง ปรับปรุงบ้าน จัดสวน ไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบ้าน ข่าวสารและบทสัมภาษณ์บุคคลในแวดวงการออกแบบ - Editor@HiclassSociety.com

You may also like...