ห้องน้ำ (ตอนที่ 3)

แม้ว่าห้องน้ำจะเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในบ้านที่จำเป็นต้องออกแบบให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ถูกต้องตามหลักสรีระศาสตร์ และถูกต้องตามหลักการวางระบบสุขาภิบาล แต่คนกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์และมีรสนิยมในการใช้ชีวิตที่เป็นปัจเจก ก็จะนิยมออกแบบห้องน้ำให้มีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากห้องน้ำมาตรฐาน เพื่อสนองความชอบส่วนตัว แสดงออกถึงฐานะ ในขณะที่คนส่วนมากก็จะคุ้นเคยกับห้องน้ำที่มีลักษณะตามมาตรฐานการใช้งานเบื้องต้น คือมีขนาดของห้องและการจัดวางตำแหน่งสุขภัณฑ์ที่มีแบบแผนคล้ายๆกันทั่วโลก

ขนาดห้องน้ำอาจจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับขนาดของบ้านและความพอใจ แต่ขนาดเล็กที่สุดของห้องน้ำที่มีส่วนอาบน้ำ และห้องสุขาอยู่ด้วยกัน ควรมีขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร เพื่อให้จัดวางโถส้วมได้พอดี ส่วนความยาวหรือความลึกนั้นไม่ควรต่ำกว่า 1.20 เมตร และความสูงจากพื้นถึงเพดานน้อยที่สุดไม่ควรต่ำกว่า 2 เมตร โดยออกแบบส่วนอาบน้ำเป็นแบบฝักบัวติดผนังเพื่อประหยัดเนื้อที่ ส่วนที่เหลือสำหรับวางโถส้วม และสำหรับวงสวิงของบานประตูในกรณีที่เลือกใช้ประตูบานเปิด โดยทั่วไปหากเลือกใช้ประตูบานเปิดของห้องน้ำมักจะให้ประตูเปิดเข้าไปในห้องน้ำ แต่ถ้าพื้นที่แคบอาจเปลี่ยนเป็นประตูบานเลื่อนแทนก็ได้

ภายในห้องน้ำ ไม่ว่าใครจะชอบสไตล์ไหน เบื้องต้นก็ควรจัดตกแต่งให้สะอาด ไม่อึดอัด ระบายอากาศได้ดี ระบายน้ำได้เร็ว มีแสงสว่างเพียงพอ หากห้องน้ำมีพื้นที่มากพอควรแบ่งส่วนใช้งานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเปียกและส่วนแห้ง ส่วนเปียกจะใช้ในการอาบน้ำ อาจจะเป็นอ่างหรือ ฝักบัวก็ได้ ควรมีการป้องกันไม่ให้น้ำกระเด็นมาสู่ส่วนแห้ง ส่วนแห้งก็คือส่วนอ่างล้างหน้า โถปัสสาวะ ชักโครก ส่วนนี้สามารถใช้พรมแผ่นมาวางได้ แต่การใช้งานต้องระวังให้แห้งจริงๆ นอกจากนี้ยังต้องมีเฟอร์นิเจอร์ส่วนประกอบต่างๆ อีก เช่น กระจกส่องหน้า ที่ใส่ทิชชู ที่ใส่สบู่ ที่แขวนผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น ถ้าเฟอร์นิเจอร์พวกนี้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมจะใช้งานไม่สะดวก ปัญหาพื้นๆที่พบอยู่เสมอในการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นส่วนประกอบในห้องน้ำ เช่น ตำแหน่งของกระจกส่องหน้าสูงเกินไป ที่แขวนผ้าเช็ดหน้าและที่ใส่ทิชชูใกล้อ่างล้างหน้าจนเกินไปทำให้เปียกได้ ที่แขวนผ้าเช็ดตัวอยู่ไกลจากส่วนอาบน้ำ สายชำระอยู่ซ้ายมือใช้งานไม่สะดวก ม่านกันน้ำเลื่อนไปแล้วติดสุขภัณฑ์ที่วางสบู่โดนน้ำจากฝักบัว ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาจุกจิกแต่มักเกิดขึ้นซ้ำซากหากไม่มีการวางแผนที่ดี หรือผู้ออกแบบไม่มีประสบการณ์ที่เพียงพอ แม้จะเป็นปัญหาเล็กน้อยแต่เมื่อเกิดแล้วจะอยู่ถาวร จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น

ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดกับห้องน้ำไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็รำคาญใจพอกันคือ พื้นเปียก ทั้งในบริเวณที่เป็นส่วนแห้งของห้องน้ำ และการรั่วซึมของน้ำในห้องน้ำออกมาข้างนอก ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดบ่อย ปัญหาพื้นเปียกภายในคือการที่น้ำจากส่วนเปียกไหลมารบกวนส่วนแห้ง สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้ด้วยการทำพื้นต่างระดับ หรือการทำประตูกั้น นอกจากนี้ยังต้องช่วยด้วยการทำพื้นส่วนเปียกให้มีความลาดชันมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ระบายน้ำทิ้งลงท่อได้เร็ว ไม่มีน้ำขังหรือนองบนพื้น ปัญหาพื้นภายในเปียกจะไม่ร้ายแรงเท่ากับพื้นนอกห้องน้ำเปียก โดยเฉพาะการรั่วซึมบริเวณประตูหรือวงกบ ในการออกแบบก่อสร้างระดับพื้นของห้องน้ำมักทำให้ต่ำกว่าระดับพื้นภายนอก 5-10 เซนติเมตร แต่ถ้าไม่สามารถทำพื้นที่ระดับต่ำกว่าก็สามารถออกแบบให้มีธรณีประตูหรือหล่อขอบคอนกรีตกั้นป้องกันน้ำไหลออกมาที่พื้นข้างนอกได้

ห้องน้ำ เป็นห้องที่จะต้องชื้นแฉะอยู่เสมอและมักเกิดรอยคราบสบู่ รวมถึง มีการใช้น้ำยาทำความสะอาด ซึ่งมีสภาพความเป็นกรดสูง จึงควรเลือกวัสดุปูพื้นผนังที่ทำความสะอาดได้ง่ายและทนกรด-ด่างได้ดี เช่น กระเบื้อง , แกรนิต สำหรับห้องน้ำที่แยก ส่วนเปียก ส่วนแห้ง การตกแต่งห้องน้ำด้วยวัสดุตกแต่งชนิดใดก็ตามที่ไม่ทนต่อความชื้นและเชื้อรา เช่น วอลเปเปอร์ ไม้ หรือไม้อัด ควรเลือกใช้เฉพาะการตกแต่งในส่วนแห้ง ซึ่งมีการใช้งานและมีความชื้นน้อยกว่ามาก และในส่วนเปียกควรระวังเรื่องความมัน หรือความลื่นของวัสดุ โดยเฉพาะส่วนพื้นควรเลือกวัสดุที่มีความหนืดหรือผิวหยาบ แต่ต้องไม่หยาบจนขรุขระหรือมีรุพรุนมากเกินไปจนกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค หรืออาจมีเหลี่ยมคมเป็นอันตรายเมื่อลื่นล้ม ในกรณีที่เลือกวัสดุผิวเรียบมาปูพื้น ก็อาจใช้น้ำยาเคลือบพื้นให้มีความหนืดช่วย

และดังที่กล่าวไปแล้วว่าห้องน้ำควรมีช่องเปิดระบายอากาศเพื่อระบายกลิ่นและความชื้น แต่การทำช่องเปิดของห้องน้ำ เพื่อระบายอากาศหรือเพื่อเป็นช่องแสง ควรมีมุ้งลวดหรือตะแกรงที่กันแมลงหรือสัตว์เลื้อยคลาน เพราะความชื้นของห้องน้ำอาจทำให้มีสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์คืบคลานเข้ามาทำอันตราย หรือเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ในกรณีที่บ้านใดชอบห้องน้ำแบบเปิด คือเปิดหลังคาออกสู่ธรรมชาติ ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงปัญหานี้ รวมถึงต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว ห้องน้ำแบบเปิดจึงไม่เหมาะกับบ้านขนาดเล็กที่ไม่มีบริเวณกว้างขวางหรืออยู่ในแหล่งชุมชน

ในปัจจุบัน มีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นในห้องน้ำกันอย่างแพร่หลาย รวมถึงมีการเพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอีกหลายชนิดเข้าไปติดตั้งในห้องน้ำ ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องความเปียกชื้น กระแสไฟฟ้าลัดวงจร อุปกรณ์ใดๆที่ต้องใช้ไฟฟ้าในห้องน้ำ จำเป็นต้องติดตั้งสายดิน และควรติดตั้งไว้ในส่วนแห้งเพื่อความปลอดภัย

สำหรับบ้านที่เน้นการตกแต่ง ห้องน้ำเป็นหนึ่งในห้องที่แสดงตัวตนของผู้ใช้ออกมาอย่างโดดเด่น รูปแบบของการประดับประดาจึงไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว สามารถออกแบบได้ตามรสนิยม แต่ในการออกแบบก่อสร้างนั้นจะต้องไม่ละเลยหลักการพื้นฐานในด้านสุขอนามัยและความสะดวกปลอดภัย ถ้าใช้งานได้ดีมีมาตรฐาน จะเป็นห้องน้ำสไตล์ไหนๆก็สุขได้ไม่จำกัด
……………..
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...