สุกัญญา ตั้งนิมมานนรดี D’ Architects Studio

13_bridge-and-court

สุกัญญา ตั้งนิมมานนรดี สถาปนิกสาวเก่งมากประสบการณ์ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมานานทั้งในแวดวงวิชาชีพและด้านวิชาการ หลังจากสะสมชั่วโมงบินในองค์กรใหญ่จนฝีมือแกร่งกล้า เธอตัดสินใจก้าวออกจากระบบองค์กรมาสู่สถานะสถาปนิกอิสระ โดยจับมือกับทีมเพื่อนสนิทที่เป็นนักออกแบบที่มีฝีไม้ลายมือไม่แพ้กัน เพื่อเปิดสตูดิโอออกแบบของตัวเอง รับงานออกแบบในสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน
20141127-IMG_5030

สุกัญญาเป็นผู้ก่อตั้ง D’ Architects Studio กลุ่มสถาปนิกมืออาชีพที่ผสมผสานความชำนาญในหลากสาขาวิชาการออกแบบเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ในระบบการทำงานร่วมกันแบบสตูดิโอภายใต้ชื่อ “D’ Architects Studio” 

ขอบเขตของการให้บริการของ D’ Architects Studio

งานที่ให้บริการจะเป็นการออกแบบงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายใน และงานวางผังแม่บทในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งงานที่รับก็มีหลากหลาย ทั้งใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ตามที่ลูกค้ามั่นใจที่จะมอบหมายงานให้เราทำ

ประวัติการศึกษาและประวัติการทำงาน

  • จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • จบการศึกษาระดับปริญญาโท Master of Science in Urban Planning Land and Housing Development (Full Scholarship จาก DAAD) จากสถาบัน Asian Institute of Technology
  • สถาปนิก บริษัท Design 103 Co., Ltd.
  • อาจารย์ภาควิชาโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • สถาปนิก บริษัท Jones Land LaSalle Co., Ltd.
  • สถาปนิกอาวุโส บริษัท Tomaryk Design (Thailand) Co., Ltd.

รางวัลที่เคยได้รับ

The runner up prize (รางวัลชมเชย) from Bangkok Metropolitan Administration Authority in Urban Planning and Design Competition in the article title “Conceptual and Development Plan of Rama III Area (The new center business district), 2008

แรงบันดาลใจในการเข้ามาสู่วงการสถาปนิก

เกิดจากความหลงใหลในงานออกแบบ การครีเอทพื้นที่ว่าง มันเหมือนการสร้างที่ว่างให้เป็นที่ๆ มนุษย์สามารถเข้าไปใช้งานและอยู่อาศัยได้ (The Creation of nothingness) เหมือนการวาดวิมานในอากาศแต่เราวาดลงกระดาษ การคิดว่าจากที่ดินว่างเปล่า และฟังก์ชั่นการใช้งานที่ลูกค้าต้องการ พร้อมทั้งข้อจำกัดในเรื่องกฎหมายและงบประมาณ เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่อยู่ในเสปซของอาคารที่เราออกแบบมีความสบายและมีความสุข มันเป็นความสนุกและท้าทาย งานทุกงานมีโจทย์ที่ต่างกันเสมอ ทำให้เราต้องคิดหาวิธีแก้โจทย์ไปเรื่อยๆ ไม่น่าเบื่อ

สไตล์การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ชื่นชอบ

การออกแบบสไตล์ Modern Minimalist กับสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่น ฟังดูแล้วอาจขัดกันนะคะ แต่ส่วนตัวชอบนำแนวความคิดของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาใช้ มาดัดแปลงให้อยู่กับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย จริงๆ ก็ชอบงานของสถาปนิกหลายท่าน แต่ที่โปรดปราน ก็คงเป็น Tadao Ando และเจ้าพ่อวลี “Less is More” Mies Van Der Rohe

แนวทางการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์

คงเป็นสไตล์ Modern minimalist นี่แหละ อาจจะออกแนว Tropical modern บ้างในบางงาน ตามความเหมาะสมในคอนเซ็ปต์ของพื้นที่นั้นๆ เพราะไม่ชอบการสิ้นเปลืองวัสดุหรือทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ การออกแบบจึงเน้นที่เสปซและแมส และ proportion ของตัวอาคารมากกว่าที่จะตกแต่งภายนอกอาคาร (facade) เปรียบเสมือนคนที่หุ่นดีจะใส่อะไรก็สวย และที่สำคัญ คือต้องอยู่ได้นาน ไม่ใช่พอหมดเทรนด์ ก็ดูเอาท์ เนื่องจากเราออกแบบภายใน (interior) ด้วย จึงมักคำนึงว่า “ต้องสวยทั้งข้างในและข้างนอก” ไม่ใช่ข้างนอกดูสวยแต่ข้างในใช้งานยาก

แนวคิดที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน

ทำงานทุกงานให้เหมือนมีแค่งานเดียวในชีวิต ทำให้ดีที่สุดภายใต้สถานการณ์นั้นๆ แม้บางครั้งมันจะได้ดั่งใจบ้าง ไม่ได้บ้าง แต่มันคือที่สุดของเราแล้วจึงไม่มีการเสียใจในภายหลัง

ปัญหาหรืออุปสรรคที่พบในการทำงานและวิธีการในการรับมือกับปัญหา

เรามักจะพบว่าลูกค้าไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ในบางครั้ง หรือการไม่เข้าใจในเสกลขนาดของห้องหรือของอาคาร เพราะเราเองก็ไม่สามารถพรีเซนต์เสกลเท่าขนาดจริงในขั้นตอนออกแบบได้ จึงมักมีการแก้ไขตอนที่งานขึ้นจริง ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการทุบรื้อ หลังจากทำงานจบใหม่ๆ แต่ก็ไม่มากนัก ระยะหลังเราเริ่มเข้าใจลูกค้ามากขึ้น และปรับวิธีการพรีเซนต์แบบให้เข้ากับความเข้าใจของลูกค้าแต่ละราย ไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็นแบบนี้พรีเซนต์แพทเทิร์นนี้เสมอไป บางครั้งเราก็เจอลูกค้าที่ดูโมเดลไม่ออก ดูไม่เข้าใจ ก็ต้องอาศัยการอธิบายอย่างใจเย็น และพูดคุยกับลูกค้าจนเหมือนจะเป็นเพื่อนกัน เวลาที่จะเริ่มทำการออกแบบ เพื่อจะได้ไม่เหวอในตอนสร้างจริง อย่างลูกค้าที่หลงเสกล ก็ต้องพาไปในที่ที่มีขนาดห้องใกล้เคียง เพื่อให้เค้ารับรู้ว่าเสปซที่จะเกิดขึ้นมีขนาดเท่านี้ประมาณนี้

ส่วนงานก่อสร้าง ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ ผู้รับเหมา เมื่อเห็นแบบแปลกใหม่ ดีเทลใหม่ ไม่เคยทำ ก็มักจะไม่ยอมทำ จะปรับตามที่ตัวเองถนัดทุกครั้ง ก็ต้องอาศัยการอธิบาย ลงไปดูแลดีเทลด้วยตัวเอง คุยกับช่างด้วย คือไม่ใช่เป็นคนที่นั่งทำแค่แค่บนโต๊ะ เมื่อให้ช่างอธิบายข้อจำกัดของงานช่าง เราก็นำมาปรับและหาวิธีให้เค้าสามารถเข้าใจวิธีที่จะทำ เค้าก็สามารถทำได้นะ ช่างแท้ๆ ทุกคนมีใจรักมีฝีมือ เมื่อเค้าเข้าใจ เค้าจะรู้สึกว่าท้าทาย แต่ต้องคุยกับระดับช่าง ผู้รับเหมามักเซย์โน เอางานง่ายจบไวไว้ก่อน เราก็เข้าใจทุกฝ่าย

ผลงานที่ภาคภูมิใจ

จริงๆ ภูมิใจกับผลงานที่ทำทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ เพราะเป็นคนทำงานเอาใจใส่งานทุกงานทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง ตั้งแต่วางคอนเซ็ปต์ การออกแบบขั้นต้น จนถึงขั้นตอนดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ เหมือนมีงานเดียวอยู่ในมือเสมอ นอกจากนี้ก็ยังคอยดูแลให้คำปรึกษากับลูกค้าด้วย เพราะบางครั้งการก่อสร้างที่มีปัญหา ความยาวนานของการทำงาน การปรับลดงบประมาณ ทำให้เราต้องปรับแบบเพื่อให้คงรูปลักษณ์ตามคอนเซ็ปต์ในราคาที่เป็นไปตามงบที่เปลี่ยนไป

ทุกๆ งานลูกค้าจะไว้ใจให้ดูแลตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ อย่างงานวางผังแม่บทเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ที่เคยทำ ก็มี Koh Kong, Koh Smach, Koh Rong Samloem ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นผังแม่บทเฉพาะ Physical planning ในการเช่าสัมปทานเกาะ พื้นที่ประมาณ 100-250 เฮกตาร์ ของลูกค้าต่างชาติ โดยฟอร์มทีมทำกับเพื่อนที่จบ Landscape และ Urban design ส่วนในงานสถาปัตยกรรมก็จะมีทั้งคอนโดมิเนียมขนาดกลางประมาณไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร ที่ภูเก็ต พัทยา และปราณบุรี  แล้วก็มีงานจำพวกโรงงานอย่างของ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด ที่มีพื้นที่ประมาณ 13,000 ตารางเมตร ที่กำลังประมูลการก่อสร้าง เราชอบทำงานเสกลประมาณนี้ เพื่อที่จะดูแลงานได้ด้วยตนเอง และดูแลได้เต็มที่กับทีมที่ไว้ใจกัน ทั้งทีมวิศวกร และฝ่าย Support

IMG_1747

แต่พูดถึงผลงานที่ตัวเองภูมิใจก็เป็น โครงการ Sansuri Condominium ถนนหาดสุรินทร์ซอย4 ตำบลเชิงทะเล จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมขนาด 2-3 ห้องนอน จำนวน 35 ยูนิต สูง 7 ชั้น โดยวางคอนเซ็ปการออกแบบเป็น Modern minimalism ให้ง่ายต่อการดูแลรักษา ตามที่เจ้าของโครงการต้องการ

IMG_1071 IMG_1095

ในโครงการนี้นอกจากเราจะออกแบบตัวอาคารแล้ว ยังออกแบบตกแต่งบริเวณล็อบบี้ให้บาร์นั่งชิล นอกเหนือไปจากการออกแบบตามฟังก์ชั่น เพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางให้มีการใช้งานจริงมากขึ้น อีกทั้งเป็นการออกแบบเพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ชาวต่างชาติที่อยู่ในภูเก็ต

11

ส่วนการออกแบบห้องตัวอย่าง เราได้วาง conceptual interior ด้วยการใช้บิวท์อินให้น้อยและงานลอยตัวมากกว่า เพื่อให้ง่ายในการตกแต่ง

09

ในงานนี้ไซท์มีลักษณะหน้าแคบยาวและไปกว้างในด้านใน จะเห็นวิวทะเลระยะไกลได้ต้องชั้น 3 ขึ้นไป ผู้ออกแบบจะต้องหาจุดขายให้ชั้นล่างๆ สามารถมองเห็นวิวได้เช่นกัน นั่นคือ การสร้างวิวขึ้นภายใน เนื่องจาก approach ที่แคบ จึงมีการบิดอาคารเพื่อให้ตอบรับกับ approach จากถนน และทำให้ทุกยูนิตเห็นวิวหมด

IMG_1503 IMG_1131-2

โครงการ Modena Condominium ถนนเลียบหาด ตำบลปากน้ำปราณ อ. ปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นคอนโดมิเนียมขนาด 27 ยูนิต สูง 4 ชั้น 1 ชั้นใต้ดิน และ Pool Villa จำนวน 4 หลังอยู่ด้านหน้า

Modena Condominium

Modena Condominium

11_building

งานนี้เราได้แท็กทีมทำร่วมกับ บริษัท GFAB Architects จากบาหลี ใน Conceptual DesignPart จากนั้นทางเราก็เป็นผู้ออกแบบและรับผิดชอบส่วนที่เหลือทั้งหมด ทั้งรายละเอียดของการออกแบบและการพัฒนาแบบ แบบก่อสร้าง รวมทั้ง Site inspection ด้วย โดยงานนี้มีบริษัท MindscapeArchitect Co., Ltd. เป็นผู้ออกแบบตกแต่งภายใน

06_Gf-stair

เนื่องจากสภาพที่ดินเป็นหน้าแคบและยาว ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายผู้ออกแบบว่าทำอย่างไรที่จะให้ทุกยูนิตมีจุดขาย ในโครงการนี้ เพื่อลดความยาวของทางเดิน เราจึงออกแบบบันไดให้เสมือนเป็นประติมากรรมในเสปซ และนำสายตาจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง อีกทั้งเพื่อขายความเป็นส่วนตัวของที่พักอาศัย

13_bridge-and-court

สำหรับชั้นที่เป็น Duplex แต่ละยูนิต 2 ชั้นบนจะมีบันไดทางขึ้นของตนแยกจากส่วนกลางเสมือนเป็นบ้าน และมีการใช้ reflexive pond การบิดองศาตัวห้อง เพื่อเพิ่มวิวให้กับยูนิตบน อีกทั้งมี Roof terrace ให้สามารถนั่ง enjoy outdoor space เป็นส่วนตัวได้

09_pool

ในงานนี้มีการใช้โครงสร้างผนังคอนกรีตจริง เป็นตัวรับน้ำหนัก มิใช่แค่ผนังตกแต่ง จึงต้องร่วมมือกันระหว่างผู้ทีมออกแบบและ ทีมก่อสร้าง ในการวาง pattern คอนกรีตและวิธีการหล่อที่มีรอยต่อของวัสดุที่จำเป็นให้มีน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีการนำโลโก้กราฟิกของโครงการมาเป็นส่วนนึงของการตกแต่ง เช่น ทำเป็นราวกันตกพันรอบอาคาร หรือบิวท์อินเฟอร์นิเจอร์ในส่วนล็อบบี้และ Landscape เพื่อเพิ่มความเป็นอัตลักษณ์ให้แก่โครงการ

เป้าหมายความสำเร็จที่มุ่งหวังในอนาคต

ก็ไม่มีอะไรมาก ขอให้ได้ทำงานที่ตัวเองรักไปเรื่อยๆ จนกว่าสภาพร่างกายจะไม่อำนวย การที่เราได้เห็นงานที่เราได้ออกแบบ ได้รับการสร้าง และลูกค้าแฮบปี้กับงานที่เราทำให้ ก็สุขใจแล้ว

มุมมองต่อวงการออกแบบงานสถาปัตย์

ปัจจุบันงานออกแบบในบ้านเราก็ดูเก๋ไก๋มากขึ้น เรียกได้ว่าไม่แพ้ฝรั่ง และยิ่งเคยทำงานกับฝรั่ง คนไทยไม่แพ้หรอกค่ะ อย่าเก่อฝรั่งนักเพราะที่ดีก็มี ที่แย่แต่ท่าดีก็เยอะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คงจะเอาแต่เก๋อย่างเดียวคงไม่ได้ มันต้องดู Urban context และสภาพภูมิอากาศในบ้านเราด้วย เช่น เรื่องฝน เรื่องน้ำ การใช้วัสดุ เพื่อให้อาคารมีปัญหาหรือสร้างปัญหาน้อยสุด แต่บางครั้งผู้ออกแบบทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะพอเจอพื้นที่ดินแพง เจ้าของอยากได้เต็มพื้นที่เพื่อกำไรสูงสุด ก็ได้แต่ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เวลาและงบประมาณอำนวยให้ แต่ก็อยากฝากผู้ออกแบบรุ่นใหม่ว่าการออกแบบคือการแก้ปัญหาจากโจทย์ ไม่ใช่สวยแล้วสร้างปัญหาตอนใช้งานจริง อันนี้ก็สงสารลูกค้านะหากใครเจอ

มุมมองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางที่งานออกแบบจะช่วยแก้ปํญหาได้

ถ้าพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องพูดทั้งระดับมหภาคและจุลภาค หากจะพูดกันจริงๆ ยาวมาก เอาแค่ในแง่มุมมองของนักออกแบบแล้วกัน เพราะพอเราพูดถึงคำว่า “อาคารสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม” จะรู้สึกถึงเงินจำนวนมหาศาล ระบบท่อระบบต่างๆ ในอาคาร เพื่อจะแสดงออกว่ามันเป็นอาคารสีเขียว ต้องใช้เทคโนโลยีนั่นโน่นนี่ ซึ่งส่วนตัวมองแล้วมักมีคำถามว่าเปลืองหรือดีกันแน่

พอพูดถึงการใช้พลังงานทดแทนเช่น solar roof ก็เริ่มมีความอิรุงตุงนังจากภาครัฐ และปัญหาที่บ้านเราแดดไม่ได้จัดจ้าแบบทะเลทรายตลอดเวลา การรับแดดจึงไม่เต็มร้อย แต่ดีนะคะหากใครใช้ จริงๆ แล้ว ลองคิดแนว Back to Basic นี่แหละ ว่าทำอย่างไร อาคารเราไม่เพิ่มน้ำเสีย มีการทรีตเมนต์ที่ดี มีพื้นที่สีเขียวของจริงให้รองรับน้ำบนพื้นผิวแทนที่จะพึ่งพาเทคโนโลยีตลอดเวลา อาจจะดีกว่าไหม คิดง่ายๆ แค่ไฟดับ ไม่มีไฟใช้ ปั๊มไม่ทำงาน Detention pond ก็เสร็จ น้ำก็ท่วมเพราะน้ำ outlet จากอาคารไม่มีทางไป สังเกตง่ายๆ ว่าทำไมกรุงเทพฯ ฝนตกหนักทีไรน้ำท่วมทุกที เพราะไม่มีดินที่ซับน้ำ ทุกแห่งเป็นคอนกรีต น้ำซึมผ่านไม่ได้ ไม่มีที่ไป ควรคิดเพิ่ม soft scape บ้าง

การออกแบบต้องคำนึงถึงภูมิอากาศบ้านเราด้วย แทนที่จะเอาแต่ฟอร์มสวย การวาง orientation ของอาคารให้เหมาะสมก็สามารถช่วยลดการใช้แอร์ ลดพลังงานลงหรือ ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้วัสดุให้พอเหมาะลดการใช้วัสดุฟุ่มเฟือยชนิดถล่มภูเขาเป็นลูกๆ ตัดป่า ก็ลดขยะและช่วยสิ่งแวดล้อมได้แล้วล่ะ ทุกอย่างเริ่มจากจุลภาคก็จะทำให้ภาพรวมมันดีขึ้น

D’ Architects Studio

559/407 Parkland Grand Condominium ถนนตากสิน-เพชรเกษม แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กทม. 10600

Tel/Fax : 662-106-2792, 6681-899-8836

Email : di.architects@yahoo.com

Website : www.diarchitects-studio.com

FB : www.facebook.com/DiArchitectsStudio

Sajeerat Putruengsak

ศจีรัตน์ พุฒเรืองศักดิ์ (ลูกท้อ) จบศึกษาในระดับปริญญานิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต (นศม.) ภาควิชาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นบรรณาธิการ/นักเขียน ที่มีประสบการณ์ในด้านสื่อสารมวลชนทั้งในฐานะสื่อมวลชนระดับมืออาชีพ สำหรับสื่อแนวไลฟ์สไตล์ สื่อศิลปะการออกแบบ และงานตำแหน่งบริหารในสายธุรกิจแวดวงบันเทิง รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำต่างๆ อาทิ สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ, สาขาวิทยุโทรทัศน์และวารสารศาสตร์ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และ สาขาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

You may also like...