หม่อน พืชสารพัดประโยชน์

mulberry-2242901_1920 (1)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morus alba L.
วงศ์ : Moraceae
ชื่อสามัญ : Mulberry Tree, White Mulberry
คนไทยเราโชคดีที่เกิดมาในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากสภาพภูมิประเทศและอากาศบ้านเราจะเหมาะกับการปลูกพืชท้องถิ่น ยังสามารถปลูกพืชต่างถิ่นที่มีประโยชน์หลายชนิดได้ผลดีมาก อย่างเช่น หม่อน หรือ มัลเบอร์รี ซึ่งเป็นไม้พุ่มขนาดกลางในวงศ์ Moraceae มีที่มาจากตอนใต้ของประเทศจีน และถูกนำมาแพร่พันธุ์ในประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เจริญงอกงามได้ดีมากในบ้านเรา จนหลายคนนึกว่าเป็นพืชพื้นถิ่น โดยในไทยจะนิยมปลูกกันมากในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงทั้งผลและใบ และมีความสำคัญในฐานะพืชเศรษฐกิจ เพราะเป็นอาหารของตัวอ่อนไหม ที่เป็นปัจจัยผลิตสำคัญในอุตสาหกรรมผ้าไหม

mulberry-2353908_1920
หม่อน เป็นพืชอายุยืน มีลำต้นตั้งตรง สีน้ำตาลแดง แตกกิ่งก้านไม่มาก ทั่วไปจะมีลำต้นสูงประมาณ 2.5 เมตร แต่บางพันธุ์จะสูงได้ถึง 7 เมตร หากไม่ถูกรบกวนโดยแมลง โรค หรือกระทบกระเทือนจากการเก็บเกี่ยว ทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานมากอย่างไม่น่าเชื่อ คือ ถ้าไม่ตัดทิ้งก็จะอยู่ได้ยาวถึง 80-100 ปี

.
หม่อน มีอยู่ 2 ชนิด ไ้ด้แก่ Black Mulberry (ชื่อวิทยาศาสตร์: Morus nigra L.) ซึ่งปลูกเพื่อรับประทานผลเป็นหลัก กับ White Mulberry (ชื่อวิทยาศาสตร์: Morus alba L.) ที่ใช้ปลูกเพื่อการเลี้ยงตัวไหม ชนิดหลังนี้จะมีใบดกมาก ขนาดของใบก็จะใหญ่กว่า ผลจะน้อยและไม่หวานเมื่อเทียบกับชนิดแรก ไม่เป็นที่นิยม แต่ผลของทั้งสองชนิดสามารถกินได้ทั้งคู่

berries-4285322_1920
ต้นหม่อนนั้นปลูกง่าย และไม่ต้องการการดูแลประคบประหงมมากนัก นอกจากจะปลูกกันในระบบเกษตรกรรมขนาดใหญ่แล้วก็สามารถปลูกเป็นพืชในครัวเรือนได้ เพียงหักกิ่งมาชำในดินที่ร่วนซุยชุ่มชื้น ก็สามารถงอกงาม แตกกิ่งแตกก้าน ออกผลได้สม่ำเสมอ ควรปลูกในบริเวณโล่งแจ้ง ที่มีแสงแดดเข้าถึงมากๆ โดยปกติรดน้ำเพียงอาทิตย์ละครั้งก็เพียงพอแล้ว แต่ช่วงที่ออกผล ควรรดน้ำในตอนเช้าทุกวัน เพื่อจะได้ผลที่ใหญ่และเนื้อแน่น ส่วนปุ๋ยนั้นใช้ตามความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ปลูก อาจใส่สักสองถึงสามครั้งต่อปี หากต้องการดูและเป็นพิเศษก็สามารถใช้หญ้าฟาง หรือวัสดุคลุมดินอื่นๆ ปิดทับพื้นบริเวณที่ปลูกไว้ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดิน ก็จะทำให้ต้นหม่อนของเราเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขี้น

.
เราอาจจะพอคุ้นเคยกับรสชาติหวานอมเปรี้ยวและสรรพคุณต่างๆในการต้านอนุมูลอิสระของลูกหม่อนกันอยู่บ้างแล้ว แต่ที่หลายคนไม่รู้ก็คือ ใบหม่อน ที่เอาไว้ใช้เลี้ยงตัวไหมนั้นก็มีผลประโยชน์ต่อสุขภาพไม่แพ้กัน นอกจากจะเปี่ยมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับส่วนผลแล้ว ใบหม่อนยังมีคุณประโยชน์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยขับเหงื่อ ลดไข้ ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพราะในใบหม่อนมีสารที่ยับยั้งเอนไซม์ที่ย่อยสลายน้ำตาลในลำไส้และชะลอการดูดซึมคาร์โบไฮเดรต ทั้งยังช่วยควบคุมระดับคลอเรสเตอรอล โดยการลดปริมาณไขมันเลว (LDL) และกระตุ้นการสร้างไขมันดีในร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด บรรเทาอาการท้องเสีย ต้านเชื้อแบคทีเรียต่างๆ บรรเทาอาการปวดศีรษะและเวียนศีรษะ

.
รสจืดเย็นของใบหม่อนสามารถแก้ร้อนใน แก้ไอ และบรรเทาอาการเจ็บคอ นอกจากนี้ ใบหม่อนยังมีสารเบต้าแคโรทีน ซึ่งนอกจากจะช่วยบำรุงสายตา ยังสามารถป้องกันการเกิดมะเร็ง

fruit-1835558_1920
ยิ่งไปกว่านั้น ใบหม่อนยังเป็นหนึ่งในสมุนไพรไทยที่มีส่วนช่วยในการรักษาโรคซึมเศร้า ลดอาการวิตกกังวล โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงวัย การรับประทานสารสกัดจากใบหม่อนยังสามารถช่วยในเรื่องความจำ เพิ่มสมรรถภาพของกล้ามเนื้อ และช่วยในการทรงตัว ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและการเป็นผู้ป่วยติดเตียงในผู้สูงอายุ

.
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ใบหม่อนมีคุณสมบัติในการลดความดันโลหิต จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาเบาหวานบางชนิด อาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการบริโภคชาหรือสารสกัดจากใบหม่อน เพราะอาจจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป และแม้จะไม่ได้มีข้อกำจัดทางสุขภาพ ก็ไม่ควรใช้ใบหม่อนในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจได้รับสารแทนนินมากเกินไป ซึ่งมีผลต่อระบบการต่อระบบการย่อยอาหาร ทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยและท้องอืด หากพบอาการแพ้ หรือมีผลผิดปกติใดๆในร่างกายจากการใช้ใบหม่อน ควรหยุดใช้ทันที

.
การรับประทานใบหม่อน สามารถทำได้หลายวิธี จะนำมาปรุงอาหาร เช่น ใส่ในต้มยำ หรือกินกับเมี่ยงแทนใบพลูแต่ควรนำไปนึ่งหรือลวกก่อนเพื่อความสะอาด ถ้าเป็นใบอ่อนๆที่ก้านใบยังไม่แข็ง จะนำมารับประทานเปล่าๆก็ได้ เพราะยางจะไม่ติดลิ้นเท่ากับใบแก่ แต่โดยทั่วไปจะนิยมนำมาต้มเป็นชา หากใครขี้เกียจ ไม่มีต้นหม่อนที่บ้าน ก็สามารถไปซื้อชาใบหม่อนแบบสำเร็จรูปมาต้มกิน หรือหากต้องการเห็นผลเร็วๆในการป้องกันและรักษาโรค ก็สามารถไปซื้อแบบสกัดเป็นแคปซูลมารับประทานเป็นยาได้เช่นกัน แต่หากใครมีต้นหม่อนที่บ้าน และมีเวลาว่างพอสมควร การทำชาใบหม่อนเองที่บ้านก็อาจเป็นกิจกรรมในครอบครัวที่เพลิดเพลินอย่างหนึ่ง

tea-475572_1920

วิธีทำชาใบหม่อน

 

  1. เลือกใบสวยๆ สุขภาพดี เขียวสดและอวบอิ่มทั้งใบ ไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป หากต้นที่ปลูกที่บ้านแข็งแรงและมีขนาดใหญ่พอสมควร จะตัดมาทั้งกิ่งแล้วริดใบเอาก็ได้ วิธีนี้จะทำให้ต้นหม่อนออกผลมากขึ้นด้วย
  2. ตัดก้านใบออก และนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
  3. นำใบมาฆ่าเชื้อ โดยจะลวกเป็นเวลาสัก 20-30 วินาที แล้วรีบนำมาจุ่มในน้ำเย็น หรือจะนึ่งไอน้ำสัก 1-2 นาทีก็แล้วแต่ความสะดวก แต่ทั้งสองวิธีต้องระวังไม่ให้ใบหม่อนสุกจนเป็นสีน้ำตาล
  4. นำใบมาคั่ว ตาก หรืออบจนแห้ง ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะต้องใช้ไฟอ่อนเพื่อไม่ให้ใบไหม้ การคั่วจะทำให้ไบชามีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ หากคั่วแล้วใบยังไม่แห้งดี สามารถนำไปอบต่อได้ ใช้อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือจนกว่าใบจะแห้ง

อ้างอิง

http://www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb_20-3.htm

LivingDD Editor

เว็บไซต์ LivingDD.com เป็นสื่อในเครือ HI-CLASS Media Group นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบ้าน สวน ไลฟ์สไตล์ การตกแต่ง การออกแบบ มีเป้าหมายเป็นกลุ่มคนรักบ้าน นักออกแบบ ช่างฝีมือสาขาต่างๆ ที่มีความสนใจและติดตามหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ ตกแต่ง ปรับปรุงบ้าน จัดสวน ไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบ้าน ข่าวสารและบทสัมภาษณ์บุคคลในแวดวงการออกแบบ - Editor@HiclassSociety.com

You may also like...