ปลาคาร์ฟ (Fancy Carp)

7476692478_cd31e12221_b

ว่ากันว่า การเลี้ยงปลาจะช่วยสร้างความกระชุ่มกระชวย ความคล่องแคล่วให้กับผู้เลี้ยงได้ แต่คงจะดีไม่น้อยถ้าปลาที่นำมาเลี้ยงนั้นมีสีสันและรูปร่างสวยงาม สร้างความเพลินเพลินให้กับเจ้าของบ้านได้เช่นกัน มีปลาหลายสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงเพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อ ปลาคาร์ฟ (Fancy Carp) ก็เป็นปลาอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมความมั่นคง ความอดทน ความแข็งแรง และเป็นสิริมงคลให้กับเจ้าของบ้านได้ อันเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน

ปลาคาร์ฟ เป็นปลาสวยงามที่นิยมเลี้ยงกันหลากหลาย ต้นกำเนิดที่แท้จริงนั้นมาจากปลาไน ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มีสีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน อาศัยอยู่แถวประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ซึ่งชาวจีนได้เป็นผู้ริเริ่มในการศึกษาปลาไนนี้มานานแล้ว ต่อมาเมื่อเกิดภาวะอาหารขาดแคลนในประเทศญี่ปุ่น ปลาไนจึงถูกน้ำมาเป็นอาหาร จนกระทั่งในศตวรรษที่ 18 ปลาคาร์ฟเกิดการผสมพันธุ์กันเอง ทำให้มีเพียงสีขาวและแดงตลอดทั้งตัว ชาวญี่ปุ่นจึงเริ่มพัฒนาปลาไนสายพันธุ์ดั้งเดิมให้กลายเป็นปลาที่มีสีสันและรูปร่างที่สวยงาม โดยเราจะเห็นศูนย์เพาะเลี้ยงปลาคาร์ฟนี้บริเวณเขาแถบเมืองโอจิยะ จังหวัดนิอิกาตะ และเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น

5026278342_9e38089a54_b

หากใครได้เดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงวันเทศกาลเด็กผู้ชาย หรือ 5 พฤษภาคมของทุกปี จะสังเกตเห็นธงทิวรูปลาคาร์ฟพ่อ แม่ ลูก หลากสีสัน แขวนอยู่ตามบ้าน เพื่อแสดงความยินดีกับลูกชายในครอบครัว และถือเป็นการขอพรให้ลูกชายมีสุขภาพแข็งแรงด้วย

การเดินทางของปลาคาร์ฟเข้าสู่ประเทศไทย เริ่มต้นโดยการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2493 แต่เนื่องจากปลาคาร์ฟในสมัยนั้นมีราคาสูงมาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล จึงนำมาเลี้ยงเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยทรงตั้งชื่อปลาคาร์ฟนี้ว่า “ปลาอมรินทร์” หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการเพาะพันธุ์ปลาคาร์ฟในประเทศไทยเป็นต้นมา

สายพันธุ์ของปลาคาร์ฟ

เราอาจแบ่งสายพันธุ์ของปลาคาร์ฟตามลักษณะของลวดลายและสีสันบนตัวปลา ได้เป็น 13 สายพันธุ์ ดังนี้

  1. โคฮากุ (Kohoku) ปลาที่มีลายขาวและแดง เป็นสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุด ลักษณะที่ดีสีแดงจะต้องคมชัดสม่ำเสมอ และสีขาวไม่ควรมีตำหนิ
  2. ไทโช ซันเก้ (Taisho Sanke) ประกอบ ด้วย 3 สี คือ ขาว แดง และดำ สีดำบนตัวปลานั้นควรดำสนิท และดวงใหญ่ ไม่ควรมีสีดำบนส่วนหัว รวมทั้งไม่มีสีแดงบนครีบและหาง
  3. โชวา ซันโชกุ (Showa Sanshoku) มีลักษณะ 3 สีเช่นกัน แต่ต่างกันที่สีขาวและแดงจะรวมตัวอยู่บนพื้นสีดำขนาดใหญ่ และมีสีดำบริเวณเชื่อมต่อครีบ และลำตัวในลักษณะของตัว Y
  4. อุจิริ โมโน (Utsuri Mono) บนตัวมีสีดำพาดผ่านบนพื้นสีอื่น โดยสีดำที่ปรากฏจะเป็นรอยปื้นยาวพาดบนตัวปลา
  5. เบคโกะ (Bekko) ตัวปลามีสองสี โดยมีลวดลายเป็นจุดดำแต้มอยู่บนพื้นสีต่างๆ มีขนาดที่ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป
  6. อาซากิ ชูซุย (Asagi Shusui) เป็นสายพันธุ์ที่ถ่ายทอดมาจากปลาไนโดยตรง จะมีเกล็ดสีฟ้าสวยเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ
  7. โกโรโมะ (Koromo) เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างอาซากิกับสายพันธุ์อื่นๆ โดยจะมีเกล็ดสีน้ำเงินกระจายเด่นอยู่บนลวดลาย
  8. โอกอน (Ogon) เป็นปลาที่ไม่มีลวดลาย โดยจะมีสีลำตัวสว่างไสว ปราศจากจุดด่างใดๆ
  9. ฮิการิ โมโย (Hikari Moyo) เป็นปลาที่มี 2 สี หรือมากกว่า โดยจะมีอย่างน้อยหนึ่งสีที่แวววาวดุจโลหะ (Metallic)
  10. ฮิการิ อุจิริ (Hikari Utsuri) เป็นปลาที่มีลาดยพาดสีดำเช่นเดียวกับ อุจิริ โมโน บนพื้นที่มีความแวววาวคล้ายโลหะ
  11. คินกินริน (Kinginrin) เป็นปลาที่อยู่ในกลุ่มที่มีประกายเงินหรือทองอยู่บนเกล็ด โดยเกล็ดจะดูนูนเหมือนไข่มุก
  12. ตันโจ (Tancho)  เป็นปลาที่มีสีแดงเพียงที่เดียวอยู่บนหัว โดยอาจมีรูปทรงกลมขนาดใหญ่ หรือรูปอื่นๆก็ได้
  13. คาวาริ โมโน (Kawari Mono) เป็นปลาที่ไม่มีลักษณะลวดลายที่ตายตัว ต่างจากพันธุ์อื่นๆ โดยจะมีลวดลายเกิดขึ้นใหม่ทุกปี279148212_b3334923b0_o

บ่อเลี้ยงปลาคาร์ฟ

การเลี้ยงปลาคาร์ฟ ควรเริ่มเลี้ยงจากลูกปลาที่มีอายุ 1-2 ปี และไม่ควรนำปลาชนิดอื่นมาเลี้ยงรวมกัน เพื่อป้องกันโรค

การสร้างบ่อสำหรับเลี้ยงปลาคาร์ฟ ควรมีขนาดและความลึกของบ่อควรมีความสัมพันธ์กัน ไม่ควรลึกหรือตื้นเกินไป ที่สำคัญต้องติดตั้งระบบถ่ายเทน้ำเสีย เพื่อให้น้ำในบ่อสะอาดอยู่ตลอดเวลา หากทำเป็นบ่อซีเมนต์ก็จะสามารถดัดแปลงเป็นบ่อธรรมชาติได้ง่าย คือ หากมีตะไคร่น้ำเกิดขึ้นในบ่อก็จะกลายเป็นอาหารของปลาได้ อีกทั้งยังดูดสิ่งสกปรกและแอมโมเนียที่อยู่ในน้ำได้ด้วย การสร้างบ่อเลี้ยงที่ดีควรอยู่บริเวณที่มีร่มเงา หากสร้างบ่อปลาคาร์ฟไว้กลางแดด จะทำให้ปลาโตช้า และสีสันซีดจาง ไม่สวยงาม

น้ำประปาสามารถนำมาใช้เลี้ยงปลาคาร์ฟได้ เพราะมีสภาพเป็นกลาง แต่เนื่องจากน้ำประปามีคลอรีนซึ่งจะส่งผลต่อตัวปลา ดังนั้นจึงควรรองน้ำทิ้งไว้ก่อนที่จะนำปลาคาร์ฟลงไปในบ่อ การใช้น้ำฝนจะทำลายสีของปลาและเกิดโรคได้ง่าย แต่หากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็สามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมาเติมปูนขาวและใส่ยาฆ่าเชื้อ เพื่อปรับสภาพน้ำให้เป็นกลางเสียก่อน ที่สำคัญต้องมีการติดตั้งระบบหมุนเวียนของน้ำและเครื่องพ่นน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้น้ำให้บ่อถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา

yaponskiy-karp-koi-ryby-voda

อาหารของปลาคาร์ฟ

อาหารที่แนะนำ คือเนื้อปลาป่น กุ้งสดบด เนื้อหอย เนื้อปู ปลาหมึก ข้าวสาลี รำ ผักกาด ข้าวโพด แมลง สาหร่าย ตะใคร่น้ำ แหน ลูกน้ำ หนอนแดง ถั่วเหลือง ขนมปัง และอาหารสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาด

การให้อาหารปลาคาร์ฟ ควรให้ไม่เกินวันละ 2 เวลา คือ เช้าและเย็น เพื่อให้ปลาเกิดความเคยชินและเชื่องกับผู้เลี้ยง จึงควรให้อาหารตามเวลา โดยต้องกะปริมาณให้เพียงพอกับปลาคาร์ฟทั้งหมด ในช่วงแรกผู้เลี้ยงอาจจะต้องคอยสังเกตว่าปลากินอาหารหมดเร็วหรือไม่ ถ้าหมดเร็วแสดงว่าอาหารอาจจะไม่พอ ควรเพิ่มปริมาณอาหารอีกในครั้งต่อไป แต่ถ้าปลากินไม่หมด ก็ต้องตักอาหารที่เหลือลอยน้ำอยู่ออก เพื่อป้องกันน้ำเสีย และลดปริมาณอาหารให้พอเหมาะกับที่ปลาคาร์ฟต้องการ

8173059864_28e20778ee_k

โรคที่อาจเกิดขึ้นกับปลาคาร์ฟ

ปลาคาร์ฟที่เลี้ยงไว้อาจมีอาการเจ็บป่วยได้ ผู้เลี้ยงจึงต้องคอยสังเกตว่าปลาคาร์ฟมีพฤติกรรมที่แปลกไปหรือไม่ อาทิ ปลาคาร์ฟอาจมีอาการท้องบวม นอนนิ่งที่ก้นบ่อ ว่ายน้ำไม่คล่องแคล่ว หรือว่ายน้ำเสียสมดุล คือ ว่ายไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือหงายท้อง อาการเหล่านี้เป็นอาการของความผิดปกติที่เกิดกับปลาคาร์ฟที่เกิดจากโรคที่ไม่ติดเชื้อ จึงไม่อันตรายมากนัก แต่ถ้ามีอาการจากการติดเชื้อ เช่น มีรอยแตกใต้เกล็ดปลา มีแผลเปื่อยตามตัว มีตุ่มสีขาวขึ้นบริเวณรอบปาก หรือมีอาการที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรรีบแยกปลาคาร์ฟที่ติดเชื้อไปรักษา ที่สำคัญต้องมีการเปลี่ยนน้ำ และทำความสะอาดบ่อ เพื่อป้องกันปลาคาร์ฟตัวอื่นติดเชื้อไปด้วย

เนื่องจากปลาคาร์ฟเป็นปลาที่สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมใดก็ได้ การเลี้ยงปลาคาร์ฟจึงไม่ได้ใช่เรื่องยุ่งยาก เพียงแต่ผู้เลี้ยงควรจะใส่ใจและคำนึงการติดตั้งระบบการหมุนเวียนน้ำและออกซิเจนให้เพียงพอ รวมถึงการรักษาความสะอาดของบ่อน้ำเป็นหลัก เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ปลาคาร์ฟสามารถมีชีวิตและยังคงมีสีสันที่สวยงามได้ยาวนาน

ขอบคุณข้อมูลจาก www.yourkoishouse.com, www.kapook.com, www.koithai.wordpress.com
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.flickr.com

Sajeerat Putruengsak

ศจีรัตน์ พุฒเรืองศักดิ์ (ลูกท้อ) จบศึกษาในระดับปริญญานิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต (นศม.) ภาควิชาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นบรรณาธิการ/นักเขียน ที่มีประสบการณ์ในด้านสื่อสารมวลชนทั้งในฐานะสื่อมวลชนระดับมืออาชีพ สำหรับสื่อแนวไลฟ์สไตล์ สื่อศิลปะการออกแบบ และงานตำแหน่งบริหารในสายธุรกิจแวดวงบันเทิง รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำต่างๆ อาทิ สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ, สาขาวิทยุโทรทัศน์และวารสารศาสตร์ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และ สาขาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

You may also like...