วสท. เตรียมพัฒนามาตรฐานรื้อถอนอาคารของไทยตามหลักสากล

Rhythm-Sathorn

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) แถลงข่าว เรื่อง “ถอดรหัส…กรณีดิเอทัส เปิดมาตรฐานการรื้อถอนอาคารของไทย ทำอย่างไรให้ปลอดภัย” ณ. ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารวิศวกรรมสถานฯ ถอด 6 บทเรียนเพื่อพัฒนาเมืองและประเทศ จากกรณี ดิเอทัส โครงการ 3,000 ล้าน ที่สร้างอาคารสูงเกินที่กฏหมายกำหนดวสท.เผยเทคโนโลยีการรื้อถอนอาคารมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการสร้างอาคาร พร้อมทั้งได้พัฒนาแนวทาง ”มาตรฐานงานรื้อถอนทางวิศวกรรม ปี2558” รองรับการขยายตัวของตึกสูงและปัญหาตึกที่ถูกทิ้งร้างในกรุงเทพและต่างจังหวัด เผย 90 ตึกร้างมีศักยภาพในการพัฒนาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อ  เตรียมเสนอกระทรวงมหาดไทยออกกฏกระทรวง 2 ฉบับใหม่ คือ ยืดต่อใบอนุญาตแก่ตึกร้างที่ได้รับผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 และกฏกระทรวงกำหนดความรับผิดชอบของเจ้าของในการดูแลตึกร้าง

ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ท่ามกลางความเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพและประเทศไทย มีอาคารสูงและอสังหาริมทรัพย์ที่พักอาศัยแนวสูงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก พร้อมกับปัญหาที่เกิดเป็นเงาตามตัว จากอาคารสร้างใหม่ที่ละเมิดกฏหมาย รวมทั้งปัญหาตึกเก่าที่ถูกทิ้งร้างคืบคลานสู่พื้นที่เมืองและคุกคามสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน  จากกรณีเมื่อวันที่2ธค.2557ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น สั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ดำเนินการรื้อถอนหรือแก้ไขอาคาร “โรงแรมดิเอทัส” ซอยร่วมฤดี ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำตัดสิน ทั้งนี้ เนื่องจากได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่มีเขตความกว้างติดถนนสาธารณะไม่ถึง 10 เมตร กรณีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่สังคมและเศรษฐกิจไทยต้องพัฒนา 1.ใบอนุญาตก่อสร้าง ควรยึดหลักคุณภาพ ประสิทธิภาพและความถูกต้องโปร่งใส เพื่อให้สิ่งปลูกสร้างและการพัฒนาเมืองอำนวยประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและเศรษฐกิจ  2.การบังคับใช้กฏหมายต้องมีบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและลักษณะมือใครยาว สาวได้สาวเอา  ก่อนหน้านี้มีหลายอาคารที่สร้างสูงกว่ากฏหมายกำหนด ก็ต้องรื้อถอนและปรับความสูงให้ถูกต้องตามกฏหมายหลายแห่ง 3.ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ถูกต้อง จะเป็นภาระของเมืองและสังคมส่วนรวม ในด้านความแออัดคับคั่งของการจราจร ความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน กรณีเกิดเพลิงใหม้ เช่น โรงแรมอิมพีเรียลที่ตั้งอยู่ในซอยนี้แล้วเกิดไฟไหม้มีคนตายเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน เพราะต้องใช้รถดับเพลิงคันใหญ่ แต่ซอยแคบจึงเข้ามาไม่ได้  4.การทำหน้าที่พลเมืองไทยและพลังชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดี จำนวน 24 ราย เป็นตัวอย่างของการเป็นหูเป็นตา ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหา หรือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แม้จะต้องใช้เวลาในการยื่นฟ้องและต่อสู้ยาวนานถึง 6 ปี 5.จริยธรรมในวิชาชีพ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ทำงานในทุกบทบาทต้องยึดมั่น ทั้งหน่วยงานรัฐผู้ดูแลกฏระเบียบและตรวจสอบ  บริษัทเจ้าของโครงการ  สถาปนิกผู้ออกแบบ วิศวกรควบคุมการก่อสร้าง 6.โครงการอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง ควรรับฟังข้อคิดเห็นรอบด้าน ก่อนการลงทุน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายและปัญหาต้องรื้อถอนอาคารกันในภายหลัง

วสท.จึงได้พัฒนา”มาตรฐานงานรื้อถอนทางวิศวกรรม ปี 2558 ” โดยจะใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการรื้อถอนอาคาร รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การขยายตัวของตึกสูงและปัญหาตึกที่ถูกทิ้งร้าง โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 วัตถุประสงค์และขอบเขตงาน ตามมาตรฐานสากล ส่งเสริมการดำเนินงานวางแผน ขั้นตอน วิธีการและความปลอดภัยสำหรับการรื้อถอนโครงสร้างเพื่อควบคุมความเสี่ยงจาการรื้อถอน ทั้งในด้านควบคุมความเสี่ยงต่อสุขอนามัยของชุมชน บุคคลากรผู้ทำงานและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ควบคุมความเสี่ยงด้านความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และควบคุมความเสี่ยงต่อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย ทั้งนี้โดยมีข้อกำหนดต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานความปลอดภัย ข้อกำหนดและหลักการออกแบบอาคารหลังที่จะทำการรื้อถอน การตรวจสอบอาคารที่จะถูกรื้อถอน การป้อกันโครงสร้างส่วนที่ไม่ได้รื้อถอน ข้อกำหนดด้านแรงลม ป้ายเตือนภัย อุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลในการทำงาน การใช้เครื่องจักรกล เป็นต้น ส่วนที่ 2 การวางแผนและการบริหารจัดการ ประกอบด้วย การสำรวจตรวจสอบโครงสร้าง  การสำรวจตรวจสอบสถานที่ แผนการทำงาน การดำเนินการรื้อถอนด้วยวัตถุระเบิด (ถ้ามี) ส่วนที่ 3 ขั้นตอนการรื้อถอน ได้แก่ ข้อควรระวังในการควบคุมงานรื้อถอนประเภทต่างๆ  ลำดับขั้นตอนการทำงาน วิธีการเร่งให้พังทลาย เป็นต้น

รศ.เอนก ศิริพานิชกร  ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. กล่าวว่า สำหรับตึกที่สร้างไม่เสร็จลักษณะเช่นอาคารสาทร ยูนิค ทาวเวอร์ เขตบางรักที่ล่าสุดพบศพชาวต่างชาตินั้น มีจำนวน 160 ตึกนั้น นับเป็นพื้นที่อันตรายจากอุบัติเหตุ แหล่งมั่วสุม ยาเสพติด อาชญากรรม สุขอนามัย และเป็นจุดเสื่อมโทรมของทัศนียภาพของชุมชนและเมือง ควรมีการบริหารจัดการปัญหาตีกร้างเพื่อลดจำนวนตึกร้างลงให้น้อยที่สุด วสท.เตรียมเสนอให้กระทรวงมหาดไทยออกกฏกระทรวงฉบับใหม่ยืดอายุใบอนุญาตให้กับอาคารทิ้งร้างในยุควิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 อีกครั้ง หลังจากกฏกระทรวงฉบับเก่าเพิ่งหมดอายุไปเมื่อวันีท่ 30 พ.ย. 57 ที่ผ่านมา  เพื่อจูงใจให้เจ้าของหรือผู้สนใจนำอาคารเหล่านี้มาพัฒนาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

พร้อมทั้งควรออกกฏกระทรวงกำหนดความรับผิดชอบของเจ้าของตึกร้างและตึกสร้างค้าง หากเกิดเหตุกรณีใดๆที่มีต้นจากอาคารนั้นๆ เจ้าของอาคารต้องมีส่วนรับผิดชอบ  รัฐควรมีแนวทางให้สถาบันการเงินเข้ามาร่วมดูแลให้การลงทุนปรับปรุงอาคารเดินไปได้และเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อไป โดยมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญสำรวจ และมีการคำนวณ ซึ่งขั้นตอนประเมินอาจจะต้องใช้เวลา ถ้ามีการรื้อถอนทุบทิ้งแล้วสร้างต่อนั้น จะอยู่ในส่วนของกฎหมายใหม่ ต้องขออนุญาตสำนักการโยธา กทม.และหากจะต่อเติมดัดแปลงแก้ไข ทางเจ้าของตึกจะต้องขออนุญาตก่อนเช่นกัน

PR AGENCY  : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)
ประภาพรรณ 081-899-3599,086-341-6567 ,02-911-3282  brainasiapr@hotmail.com

Sajeerat Putruengsak

ศจีรัตน์ พุฒเรืองศักดิ์ (ลูกท้อ) จบศึกษาในระดับปริญญานิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต (นศม.) ภาควิชาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นบรรณาธิการ/นักเขียน ที่มีประสบการณ์ในด้านสื่อสารมวลชนทั้งในฐานะสื่อมวลชนระดับมืออาชีพ สำหรับสื่อแนวไลฟ์สไตล์ สื่อศิลปะการออกแบบ และงานตำแหน่งบริหารในสายธุรกิจแวดวงบันเทิง รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำต่างๆ อาทิ สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ, สาขาวิทยุโทรทัศน์และวารสารศาสตร์ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และ สาขาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

You may also like...