วิธีกำหนดโทนสีในการแต่งบ้าน

วิธีกำหนดสีสันในการแต่งบ้าน

The ClusterVille 4 Ratchaphruek-Sirinthorn

สีในสภาพแวดล้อมมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้คนที่อยู่อาศัย มนุษย์ใช้สีเป็นเครื่องแสดงออกถึงสภาพจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด การใช้สีในเชิงสัญลักษณ์ การแบ่งแยก การระวังภัย การเฉลิมฉลอง การกำหนดเขตแดน การแสดงอำนาจ การปลุกเร้าให้ตื่นเต้นคึกคัก การปลอบโยนให้ผ่อนคลาย เรื่อยไปจนถึงการข่มขวัญศัตรู และแบ่งชนชั้นทางสังคม สีสันจึงเป็นสิ่งที่ผูกผันกับมนุษย์ทั้งในมิติของธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปวัฒนธรรม

มีแนวคิดมากมายในการจัดหมวดหมู่สี เช่น การแบ่งกลุ่มตามอุณหภูมิของสีเป็นสีโทนร้อนและสีโทนเย็น สีธรรมชาติและสีสังเคราะห์ สีที่เกิดจากแสงและสีจากรงควัตถุ สำหรับการใช้สีจากรงควัตถุในงานจิตรกรรมและการตกแต่ง มีการแบ่งขั้นของสีโดย มีสีขั้นที่หนึ่งเรียกว่าแม่สี คือ แดง เหลือง และน้ำเงิน เมื่อนำสีขั้นที่หนึ่งมาผสมจับคู่กันก็จะได้สีขั้นที่สอง คือ ส้ม ม่วง และเขียว ส่วนสีขั้นที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่านั้น ก็เกิดจากการผสมของสีมากกว่าสองสีขึ้นไป สีที่เข้มทึบที่สุดคือสีดำ และสีที่อ่อนที่สุดคือสีขาว ซึ่งตรงกันข้ามกับสีของแสง ที่แบ่งออกเป็น 7 สี เมื่อสีของแสงทั้งหมดผสมรวมกันจะได้สีขาว ส่วนภาวะที่ไม่มีแสงหรือไม่มีสีก็คือสีดำหรือความมืดมิด

แม้ว่าคนเราแต่ละคนอาจมีความชอบหรือไม่ชอบสีใดสีหนึ่งเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนถึงระดับจิตใต้สำนึก แต่ความรู้สึกว่าสีใดสวยหรือไม่สวย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมตามสภาพของถิ่นที่อยู่ ทั้งสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น รูปแบบการใช้สีสันในงานศิลปะและการตกแต่งจึงบ่งบอกถึงถิ่นกำเนิดของอารยธรรมจากที่ต่างกัน หรือยุคสมัยได้ชัดเจน เช่น สีสันสไตล์เมดิเตอเรเนียน สแกนดิเนเวียน โมร็อคคัน โอเรียนทัล ทรอปิคัล ฯลฯ เมื่อเอ่ยถึงชื่อของถิ่นที่ตั้งของอารยธรรมต่างๆเหล่านี้ เราก็จะเกิดจินตภาพของสีประจำถิ่นและวัฒนธรรมของชนชาตินั้นปรากฏขึ้นในความคิดโดยอัตโนมัติ

การคมนาคมสื่อสารที่สะดวกยิ่งขึ้นในโลกปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ทำให้เรารับข้อมูลข่าวสารจากต่างที่ต่างถิ่นได้ง่ายขึ้น การแลกเปลี่ยน ถ่ายเทและผสมผสานทางวัฒนธรรมก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเงาตามตัวเช่นกัน รูปแบบการใช้สีสันในงานศิลปะ การออกแบบ และตกแต่งจึงมีความซับซ้อนหลากหลายและสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของโลกยุคใหม่ที่มีความผสมกลมกลืนยิ่งขึ้น อัตลักษณ์เดิมๆที่เคยเป็นเครื่องมือในการแบ่งเขตแดนทางอารยธรรมค่อยๆถูกทำให้จางหายและผันแปรไปเป็นแบบลูกผสมที่มีรูปแบบเป็นกลาง

การบริโภคงานศิลปะประเภทภาพยนตร์และดนตรีมีผลอย่างมากต่อการถ่ายทอดอารยธรรม เพราะผู้คนมีแนวโน้มที่จะรับรู้และเชื่อถือในภาพพจน์การแสดงออกของศิลปินหรือผู้แสดงนำที่เขามีศรัทธาหรือชื่นชม ซึ่งไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตา แต่รวมถึงการแต่งกาย อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย วิถีชีวิต การใช้ดาราดังหรือคนเด่นคนดังที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบมาเป็นสื่อกลางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์จึงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังไม่ใช่เพียงแค่ในทางการตลาด แต่ยังเป็นการหล่อหลอมทางวัฒนธรรม เป็นตัวกำหนดรสนิยมในการบริโภคของประชาชนที่มีผลอย่างแรงกล้าสำหรับคนหมู่มาก

ท่ามกลางยุคสมัยที่มากด้วยการผสมผสานทางวัฒนธรรม อาจเป็นทั้งเรื่องง่ายและยากในขณะเดียวกันที่จะหาคำตอบว่า การใช้สีสันในการตกแต่งแบบใดจึงจะสามารถสื่อสารอัตลักษณ์บ่งบอกความเป็นตัวเองและสื่อสารรสนิยมที่ดีของเราออกมาได้ เพราะเกณฑ์หรือกรอบความคิดที่เคยใช้ในการตัดสินคุณค่าตามแบบแผนวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ถูกทำลายไป ในปัจจุบันเราไม่มี ‘สีพิเศษ’ หรือ ‘สีต้องห้าม’ ที่อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะบางชนชั้น หรือบางสถานที่อีกต่อไป เราจึงมีอิสรภาพในการเลือกสรรรูปแบบสีสันที่ชอบจริงๆมาใช้กับการตกแต่งของเราได้มากขึ้น

การเลือกใช้สีสันในการตกแต่งเป็นเรื่องของความสุขและความพึงพอใจ บ่งบอกเสรีภาพทางความคิด เพราะบ้านของเราคือพื้นที่ในการแสดงออกถึงตัวตน ความเป็นเจ้าของ ความสุขและความภาคภูมิใจ การแต่งบ้านให้สนุกด้วยสีสันมีข้อพิจารณาเริ่มจาก

(1) การคิดถึงรูปแบบการใช้สอยพื้นที่บริเวณนั้นว่ามีไว้เพื่อรองรับกิจกรรมใด เพราะรูปแบบการใช้งานจะเป็นตัวกำหนดว่าบรรยากาศและสีที่เหมาะสม

(2) พิจารณาสภาพแสงของพื้นที่แต่ละส่วน ว่ามีแสงสีและความสว่างในระดับใด เพราะสีกับแสงนั้นทำงานร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น ห้องที่อยู่ในโซนที่มืดและแคบอาจมีการใช้สีที่สว่างสดใสมาช่วยทำให้รู้สึกโปร่งขึ้นได้  

(3) พิจารณาขนาดของพื้นที่ โดยปกติพื้นที่แคบมากๆ อาจไม่เหมาะกับการใช้สีมืดๆเข้มๆเพราะอาจทำให้ดูทึบและคับแคบยิ่งขึ้นไปอีก

(4) ควรพิจารณาจากสีสันและรูปแบบของเครื่องเรือนและของตกแต่งที่มีอยู่แล้ว ก่อนเลือกสีห้อง เพื่อดูว่าอะไรเข้ากับอะไร จะได้ไม่ต้องลงทุนของซื้อใหม่ทั้งหมดให้ดูเข้ากับสีห้องใหม่

(5) พิจารณาว่าจุดเด่นของพื้นที่ในการตกแต่งแต่ละส่วนคืออะไร และใช้สีที่สร้างความโดดเด่นกับพื้นที่ส่วนนั้น จะได้ไม่จืดชืดเพราะไม่มีจุดเด่น หรือลายตาเพราะมีจุดเด่นหลายจุดเกินไป

(6) อย่าลืมว่าเราเลือกสีของพื้นที่แต่ละส่วนได้ตามชอบใจก็จริง แต่ทั้งหมดอยู่ฝนบ้านหลังเดียวกัน จึงต้องคำนึงถึงความเข้ากันได้ หรือความมีเอกภาพเป็นสำคัญไม่งั้นจะเข้าข่ายเลอะเทอะ

(7) สิ่งสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด และสำคัญยิ่งกว่าทฤษฎีทั้งหมดทั้งมวล สำคัญกว่าเทร็นด์การออกแบบของนักออกแบบชื่อดังระดับโลกที่ไหนๆก็คือ ความชอบและความพึงพอใจของเจ้าของบ้าน ลองจินตนาการดูว่า เมื่อจัดการกับพื้นที่นั้นตามสีที่ออกแบบไว้แล้ว คุณรู้สึกกับมันอย่างไร ชอบใจหรือไม่ มีความสุขที่ได้อยู่ในพื้นที่นั้นมากแค่ไหน ต่อให้ผิดทฤษฎีสีจนครูสอนศิลปะส่ายหน้า แต่ขอแค่คุณอยู่แล้วมีความสุข คุณก็ประสบความสำเร็จในการเลือกสีสำหรับการตกแต่งบ้านแสนรักของคุณแล้ว

feature-001

ศุภาลัย ราชเทวี

การใช้สีสันให้สนุกนั้นเป็นเรื่องของปัจเจก ข้อพึงระวังคือบ้านที่เราตกแต่งอาจมีความคิดเห็นที่ต่างกันของสมาชิกแต่ละคน การให้อิสระกับแต่ละคนในการตกแต่งพื้นที่ส่วนตัวตามความชอบของตัวเองบ้าง และการผสมผสานสีสันที่ทุกคนชอบให้ออกมาได้ลงตัวในพื้นที่ส่วนกลางจะทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม มีความเป็นเจ้าของพื้นที่ และมีความสุขกับบรรยากาศสดใสในบ้านร่วมกันได้อย่างอิ่มเอม

 

head-bottom3

เรียบเรียง: วีร์วิศ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Supalai@Home

All Rights Reserved

LivingDD Editor

เว็บไซต์ LivingDD.com เป็นสื่อในเครือ HI-CLASS Media Group นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบ้าน สวน ไลฟ์สไตล์ การตกแต่ง การออกแบบ มีเป้าหมายเป็นกลุ่มคนรักบ้าน นักออกแบบ ช่างฝีมือสาขาต่างๆ ที่มีความสนใจและติดตามหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ ตกแต่ง ปรับปรุงบ้าน จัดสวน ไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับบ้าน ข่าวสารและบทสัมภาษณ์บุคคลในแวดวงการออกแบบ - Editor@HiclassSociety.com

You may also like...